ภูเก็ต: การท่องเที่ยว การแข่งขัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 20, 2013 13:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สมถวิล ศิริบูรณานนท์

ธันวาคม 2556

การท่องเที่ยวนับเป็นสาขาเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 2 หมื่น 5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา หรือ ร้อยละ 7 ของ GDP จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2012 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 21 ล้าน 7 แสนคน สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.3 1 และจากรายงานของ World Economic Forum ปี 2013 พบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและทัวร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนไทยจะอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

นั่นคือภาพรวมของประเทศและหากดูในส่วนของภาคใต้ การท่องเที่ยวก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน เนื่องจากภาคใต้มีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทยในระดับ World Class ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างรู้จักกันดีและปรารถนาที่จะมาเยือนสักครั้ง คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังภูเก็ตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 โดยเป็นการเดินทางเข้ามาตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากเดิมที่มักจะเข้ามาเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) สำหรับนักท่องเที่ยวไทยคาดว่า จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชุมหรือสัมมนา

เรามาดูว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาสู่ภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นปัจจัยแรก ชื่อเสียงของภูเก็ต จากความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้รับการกล่าวขวัญจนได้รับการขนานนามว่า

"ไข่มุกอันดามัน

" รวมทั้งค่าครองชีพของภูเก็ตที่อยู่ในระดับต่ำกว่าแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในประเทศอื่น ๆ ประกอบกับได้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวภูเก็ตในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ปัจจัยที่สอง ความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน เนื่องจากภูเก็ตมีสนามบินนานาชาติ ซึ่งเกื้อหนุนต่อการเดินทางให้สามารถบินตรงมายังภูเก็ตได้ รวมทั้งมีการขยายเส้นทางบินตรงและเพิ่มเที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินประจำ และเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากเมืองสำคัญ ๆ ในต่างประเทศ

ปัจจัยที่สาม ความพร้อมในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และบริการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทั้งบริการด้านที่พัก สุขภาพ กีฬาและสันทนาการ ศูนย์การค้า และสถานที่ท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ

ปัจจัยที่สี่ การขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในภูเก็ต โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม รวมทั้งการขยายเครือข่ายของChain บริหารโรงแรมชั้นนำระดับโลกเข้ามาในภูเก็ตจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมในด้านการตลาดต่างประเทศของภูเก็ตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

และปัจจัยสุดท้าย ความเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น จีน รัสเซีย และอินเดีย ซึ่งคนในประเทศเหล่านี้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น เริ่มมีการท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยเลือกสถานที่ไม่ไกลจากประเทศตนเองมากนัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันภูเก็ตเริ่มมีความแออัดของนักท่องเที่ยว การจราจรที่ติดขัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มมีการเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ตไปยังจังหวัดรอบ ๆ มากขึ้น เช่น พังงา และกระบี่ โดยให้เหตุผลหลักถึงความต้องการความสงบในการพักผ่อน นอกจากนี้ในภาพรวมยังพบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีกำลังซื้อลดลงเนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ระยะเวลาพักสั้นกว่าเดิมจากระยะเวลาพักเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ เหลือพักเฉลี่ยเพียง 4 - 5 วัน และกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย (จีน) แม้จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากแต่ระยะเวลาพักเพียง 2 - 3 วัน เท่านั้น จึงทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

เพื่อให้ภูเก็ตยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ World class ตลอดไป และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ การส่งเสริมทางการตลาดมิใช่แค่เพิ่มแต่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่รายได้ต้องเพิ่มตามแบบได้สัดส่วนไปด้วย และให้คุ้มค่ากับธรรมชาติที่อาจจะเสื่อมโทรมลงจากการท่องเที่ยวที่มากด้วยปริมาณ ฉะนั้นควรมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้คงบรรยากาศการเป็นส่วนตัว ความเงียบสงบ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หลักของนักท่องเที่ยว มีการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน มีการพัฒนา ฟื้นฟูเพื่อยกระดับเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายและช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ อันเป็นการลดภาระของสถานที่ท่องเที่ยวที่ซ้ำอยู่ไม่กี่แห่ง รวมทั้งการจัดระเบียบการใช้ชายหาดในเรื่องต่าง ๆ มีการใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัด เป็นต้น

2.การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและปริมาณที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ภูเก็ตยังขาดแรงงานในเชิงคุณภาพอยู่มาก และจากการที่สถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรมนัก ทำให้การผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการ รวมทั้งระบบการศึกษาของเราเน้นการให้ความรู้เพื่อการศึกษาต่อมากกว่าการเน้นทักษะเพื่อออกไปปฏิบัติงานจริง ดังนั้น การสร้างบุคลากรด้านการท่องเที่ยวจึงควรมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการเตรียมบุคลากรเพื่อตลาดแรงงานด้านนี้อย่างจริงจัง

3.การจัดการให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพเพียงพอกับความต้องการทั้งปัจจุบันและอนาคต ด้วยความที่ภูเก็ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และการบริการสาธารณะไม่ทันกับความเจริญเหล่านี้ การปรับปรุงในเรื่องระบบการจราจร การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นระบบ การจัดการเรื่องการเอาเปรียบผู้โดยสาร การมีแท็กซี่มิเตอร์ที่เป็นระบบ ขยายและตัดถนนเพิ่มเติม มีท่าเทียบเรือ การปรับปรุงขยายสนามบิน รวมทั้งจัดการให้มีระบบน้ำประปา และกระแสไฟฟ้า ที่เพียงพอแก่ความต้องการ

4.การมีระบบและมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและการปฏิบัติอย่างจริงจัง การเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และจัดการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบ นักท่องเที่ยวถูกทำร้ายจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

เพียงเท่านี้ ภูเก็ตก็จะยังคงเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวตลอดไป

******************************************************

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ