ปฏิบัติการเชิงรุกธุรกิจท่องเที่ยวไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 13, 2013 14:08 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สรัชพงศ์ สิทธิชัย

ธันวาคม 2556

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการในปี 2558 นั้น จะเกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน และการลงทุน ที่สะดวกเสรียิ่งขึ้น หลายธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยด้วย ซึ่งต้องเผชิญการแข่งขันจากคู่แข่งทั้งรายใหม่และรายเก่าที่มีเป้าหมายเหมือนกัน คือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในอาเซียนในช่วง 5 ปี (2551-2555) ที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 9.5 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจาก 65 ล้านคนในปี 2551 เป็น 95 ล้านคนในปี 2555 ทั้งนี้องค์การการท่องเที่ยวโลก(World Tourism Organization: UNWTO) คาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 160-200 ล้านคน ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีของไทยในการขยายส่วนแบ่งตลาดธุรกิจท่องเที่ยวในอาเซียน แต่การที่จะไปถึงความสำเร็จตามที่คาดหวัง ไทยจำเป็นต้องขจัดอุปสรรคเดิมๆ และสร้างสรรค์โอกาสการพัฒนาแบบเชิงรุก ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าไทยต้องพัฒนา 5 ด้านหลักคือ

1) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากการที่ไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) การเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน ถือเป็นโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศก่อนกระจายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น ในขณะที่ไทยมีตัวเลขดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์*(1) อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 155 ประเทศ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้นการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ เพิ่มเส้นทางการคมนาคมที่มีมาตรฐาน

2) การดูแลและอนุรักษ์พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทย แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศและทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ผลกระทบที่ตามมาคือทรัพยากรธรรมชาติอาจถูกทำลายให้ได้รับความเสียหายและเกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฉะนั้น ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนของตัวเองอย่างยั่งยืน

3) เตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ควรขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในอาเซียนอย่างลาวและพม่า เพราะยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก รวมถึงประโยชน์เรื่องค่าแรงที่ยังต่ำกว่าไทย โดยอาจเข้าไปทำตลาดเองหรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

ควรเร่งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มโรงแรมและกลุ่มตัวแทน (Agency) ในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศอื่นๆในอาเซียน ให้สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยว เป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจต่อกัน

4) พัฒนาบุคลากรภาคการท่องเที่ยว ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาษาที่ 2 โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลและควรพัฒนาภาษาที่ 3 ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาลายูและจีน เป็นต้น เพราะมีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ บุคลากรภาคการท่องเที่ยวไทยยังต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนและพัฒนาการมีจิตใจในการให้บริการ (Service mind) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งช่วยสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

5) การส่งเสริมการตลาด การส่งเสริมการตลาดของรัฐบาลและภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่มักกระจุกตัวอยู่แต่จังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้น จึงควรทำการตลาดแบบขายพ่วงเป็นกลุ่ม (Cluster) เช่น พังงา-กระบี่-พัทลุง เพื่อเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นๆด้วย นอกจากนี้ไทยยังควรออกไปทำกิจกรรมส่งเสริม (Road show) เสนอไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าคุณภาพ*(2) ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) เพราะไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญและความคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปเมื่อเทียบกับการรักษาในประเทศอื่น

หากผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจท่องเที่ยวไทย ตระหนักถึงสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และเร่งปรับกลยุทธ์ไม่ใช่แค่ตั้งรับ แต่ต้องเป็นไปในเชิงรุกแบบสุดตัว ความสำเร็จที่ไทยจะยังคงยึดหัวหาดตำแหน่งผู้นำธุรกิจการท่องเที่ยวในอาเซียนพร้อมกับสร้างรายได้มหาศาลจากโอกาสที่รออยู่ตรงหน้าก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

*************************************

บทความนี้เป็นขอคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต องสอดคล องกับความคิดเห็นของธนาคารแห งประเทศไทย

*(1) ดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) เป็นตัวเลขที่ประเมินประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องถึงขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของระบบโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆเพื่อเป็นการบ่งชี้แนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง

*(2) ลูกค้าคุณภาพ (Quality Tourists) หมายถึง นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางการท่องเที่ยวได้ตามที่ต้องการ และไม่ก่อปัญหา

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก อาเซียน   (AEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ