แนวโน้มยางพาราปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 10, 2013 14:14 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวนิศร์ ชัววัลลี

ธันวาคม 2556

หลังจากที่ราคายางในปี 2556 ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง และได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือราคายางพาราตกต่ำเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนภาครัฐออกมาตรการมาช่วยเหลือในที่สุด โดยราคาเฉลี่ย 11 เดือนแรก ปี 2556 อยู่ที่ 77.81 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 17.1 สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปริมาณสต็อกยางโลกที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน การลดลงของราคายาง สร้างความกังวลให้กับเกษตรกรชาวสวนยางว่าสถานการณ์ราคายางในปี 2557 จะลดลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ดังนั้น บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคายางในปี 2557 โดยปัจจัยหลักที่สำคัญได้แก่

1. ผลผลิตยางโลก จากข้อมูลขององค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group: IRSG) เดือนธันวาคม 2556 คาดว่าผลผลิตยางโลกใน ปี 2557 จะมีจำนวน 11.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2556 ร้อยละ 4.6 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางในแหล่งผลิตสำคัญ ทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งอินเดียและจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 4 และ 5 ของโลก ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา พม่าและลาว ที่มีการขยายพื้นที่ปลูกยางในช่วงที่ผ่านมา ผลผลิตได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ส่งผลให้ผลผลิตยางโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตารางที่ 1 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

(Growth GDP %)

  ปี       จีน   สหภาพยุโรป     ญี่ปุน   สหรัฐอเมริกา    โลก
2554      9.3      1.5      -0.6     1.8         3.9
2555      7.7     -0.6         2     2.8         3.2
2556E     7.6     -0.4       2 1.      6         2.9
2557E     7.3      1.0       1.2     2.6         3.6
ที่มา: IMF, World Economic Outlook, October 2013 E คือ การคาดการณ์

          2. ความต้องการใช้ยางโลก ในปี 2557 IRSG คาดว่าความต้องการใช้ยางโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2556 เป็นจำนวน 11.6 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในปีนี้ โดยมาจากการฟ้นตัวของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ในขณะที่จีนและญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ตามการลงทุนและ การบริโภคโดย IMF คาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน และ ญี่ปุ่นในปี 2557 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 7.3 และ 1.2 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 7.6 และ 2.0 ตามลำดับ  ส่วนการผลิตรถยนต์ของโลกในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งเร่งตัวมากเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 0.4 ทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2           3. สต็อกยางโลก ผลผลิตยางที่เพิ่มมากกว่าความต้องการใช้ยางตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ส่งผลให้สต็อกยางปลายปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2557 สต็อกยางโลก จะมีจำนวน 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2556 ประมาณ 0.2 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อราคายางเพิ่มขึ้น

4. นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับราคายาง อาทิเช่น (1) การซื้อขายเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากยางเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายและอ้างอิงราคากันทั่วโลก โดยตลาดซื้อขายที่สำคัญได้แก่ ตลาดล่วงหน้า TOCOM, Shanghai และ SICOM โดยหากราคาการซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวน ก็จะส่งผลกระทบต่อราคายางในตลาดซื้อขายจริงด้วย (2) มาตรการภาครัฐที่จะสิ้นสุดลง โดยมาตรการงดเก็บเงินสงเคราะห์ (CESS) จากผู้ส่งออก จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ขณะที่มาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาท จำนวนไม่เกินรายละ 25 ไร่ ก็จะสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2557 จากปัจจัยข้างต้น แนวโน้มราคายางในปี 2557 คาดว่าจะเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีนี้ โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 75-85 บาทต่อกิโลกรัม แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ผลผลิตและปริมาณสต็อกยางของโลกที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า ส่งผลให้ราคายางไม่สูงมากเหมือนปี 2554 สะท้อนจากราคาซื้อขายยางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ย ซึ่งส่งมอบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กรกฎาคม ปี 2557 อยู่ในระดับกิโลกรัมละ 84.56 บาท ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพารา ควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวโดยการใช้ประโยชน์จากตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการลดการก่อหนี้สินในระยะยาว เพื่อพร้อมรับสภาวะราคายางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตารางที่ 2 ยางพาราโลก (พันตัน)

          2554      2555     2556    2557E
Supply   11,055   11,327   11,320   11,843
Demand   10,963   11,005   11,186   11,642
Balance      92      322      134      201
Stocks    1,758    2,080    2,214    2,414
ที่มา: IRSG E คือ การคาดการณ์

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ