สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมิถุนายน ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 4, 2014 14:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมิถุนายน 2557 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักของภาคใต้ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความไม่สะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย ส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้น จึงเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่เงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน เป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ชะลอจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 13.7 เนื่องจากราคายางยังมีแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นและสต็อกอยู่ในระดับสูงขณะเดียวกันราคากุ้งลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการที่ชะลอลงของตลาดหลัก ประกอบกับผลกระทบจากโรคระบาดยังไม่คลี่คลายทาให้ห้องเย็นชะลอการรับคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ13.0

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.1 ตามการผลิตยางแปรรูปที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอซื้อในปีก่อนทำให้ฐานต่ำ นอกจากนี้สหภาพยุโรปและอินเดียมีความต้องการสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์มากขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตอาหารกระป๋องที่คำสั่งซื้อยังเพิ่มต่อเนื่องจากตลาดหลักตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา ผลจากราคาอยู่ในช่วงทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงห้ามใช้เครื่องมือช่วยจับปลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ประกอบกับความกังวลของภาวะเอลนิโญซึ่งอาจกระทบต่อความไม่แน่นอนในตลาด นอกจากนี้การผลิตไม้ยางพารา ถุงมือยาง และน้ามันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาว

การท่องเที่ยว ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่หลายประเทศยังไม่มีการยกเลิกประกาศเตือนภัย และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างประสบปัญหาความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากกรณีรถโดยสารจากมาเลเซียเข้ามาได้เฉพาะจังหวัดสงขลา ประกอบกับช่วงปลายเดือนเริ่มเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจานวน 4.3 แสนคนหดตัวร้อยละ 20.6 จากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหลักจากภูมิภาคเอเชียลดลงถึงร้อยละ22.3 นอกจากนี้ต้องจับตาตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาลดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักของภาคใต้ลดลงจากเดือนก่อน ทั้งยาง ไม้ยาง อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารบรรจุกระป๋อง อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,318.20 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.6 ตามการหดตัวของราคายางพารา เป็นสำคัญ

ผลจากการเมืองที่คลี่คลายและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายดูแลค่าครองชีพของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 สูงสุดในรอบ 14 เดือน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 11.8 จากการค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจโรงแรม ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 4.4 โดยลดลงทั้งหมวดการก่อสร้างการนาเข้าสินค้าทุน และการซื้อรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4 จากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยลดลงในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรในหมวดภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.88 เป็นผลจากนโยบายดูแลค่าครองชีพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและน้ามันดีเซล ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.38 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.67 ในเดือนเดียวกันปีก่อน

เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อส่วนเงินฝากขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากเงินฝากประจำหดตัวมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ