ฉบับที่ 43/2557
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2557 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและ การประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยและการฟื้นตัวมี ความแตกต่างระหว่างภูมิภาค โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรที่ค่อนข้างเปราะบางได้รับผลเพิ่มเติมจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Risk) และเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบมากกว่าคาดจากการขึ้นภาษีการบริโภค อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ตามการจ้างงานและฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น และช่วยให้การส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวต่อเนื่องชดเชยการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลงบ้าง
เศรษฐกิจไทยปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวเท่ากับประมาณการเดิม โดยฟื้นตัวต่อเนื่องตามการใช้จ่าย ในประเทศที่ปรับดีขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ แต่ถูกทอนลงด้วยการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้การเติบโตในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม หลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ภาครัฐสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ทำให้นโยบายและการใช้จ่ายภาครัฐ มีความชัดเจนมากขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนในสินค้าไม่คงทนปรับดีขึ้นกว่าที่คาด ขณะที่การลงทุนโดยเฉพาะภาคก่อสร้างค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจาก การใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นดังกล่าวช่วยชดเชยแรงส่งจากการส่งออกที่ลดลง ทั้งการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับข้อจำกัดด้านการผลิตยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข อาทิ เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปในตลาดโลก และโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าเกษตรค่อนข้างมากทำให้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่า และการส่งออกบริการ ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในและนอกประเทศ ทั้งนี้ การส่งออกที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลงจากเดิมมาก ทำให้เศรษฐกิจปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวต่าลงจากประมาณการเดิม
แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากด้านต้นทุนเป็นสำคัญตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงและ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ ใช้ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบและราคาเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงจากเดิมเล็กน้อย ขณะที่ยังคงข้อสมมติการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และก๊าซหุงต้มไว้ตามเดิม สำหรับแรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ ที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่น่ากังวลเนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจ ปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวเท่ากับที่คาดไว้เดิม แต่ปี 2558 ขยายตัวลดลง โดยความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจในปี 2557 โน้มไปด้านต่ำ เพราะการส่งออกสินค้าอาจขยายตัวต่ำกว่าคาด จากข้อจำกัดด้านการผลิตในภาคการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่ากรณีฐานจากข้อจำกัดในการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจปรับเป็นสมดุลเนื่องจากข้อจำกัดในการใช้จ่ายภาครัฐอาจลดลงหลังจากที่โครงการลงทุนภาครัฐ มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนอาจฟื้นตัวเร็วกว่ากรณีฐาน แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงเบ้ลงในช่วงต้นประมาณการ และปรับเป็นสมดุลในช่วงหลังของประมาณการ ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำลงตลอดช่วงประมาณการ โดยที่ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อสมดุล เนื่องจากโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ตามนโยบาย ปรับโครงสร้างพลังงานของภาครัฐ และการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการที่อาจทาได้ง่ายกว่าปกติในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ใกล้เคียงกับโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำลงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่น้อยกว่าคาด หากเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าประมาณการ แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงสมดุลตลอดช่วงประมาณการ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องยังมีความจ่าเป็น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่ระบบการเงินและอัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายตามการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น แม้การใช้จ่ายภาครัฐอาจมีความล่าช้าบ้าง ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวช้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีเสถียรภาพ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ภาครัฐมีนโยบายปฏิรูปประเทศ ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านการผลิตและปัญหาราคาสินค้าเกษตรบั่นทอนการส่งออกชัดเจนขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนระบบการเงินและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: ณฐ์ภัชช์ พงษ์เลื่องธรรม โทร. 0 2283 5629 E-mail: napatp@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย