แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 4, 2014 14:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2557 เริ่มทรงตัวจากไตรมาสแรกของปี 2557 หลังจากที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว แต่เริ่มปรับดีขึ้นในหมวดสินค้าบริโภค จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมากในภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มปรับสูงขึ้นในปลายไตรมาส ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แต่เริ่มมีแรงสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม สินเชื่อของสถาบันการเงินชะลอลง สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นก่อนหน้าเริ่มชะลอลง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทรงตัว แต่เริ่มปรับดีขึ้นในหมวดสินค้าบริโภค เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับสูงขึ้นค่อนข้างมากในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกระเตื้องขึ้น สะท้อนจากการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์และการค้าปลีกรถยนต์ยังคงลดลง จากผลของการสิ้นสุดลงตามมาตรการรถยนต์คันแรก ทำให้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 ซึ่งสอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 9.0 และลดลงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามการค้าปลีกในหมวดยานยนต์ สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไปคาดว่าการอุปโภคบริโภคจะถูกจำกัดด้วยการชะลอตัวของสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก สำหรับภาคบริการ รายได้ธุรกิจภาคบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 43.1 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.2

การลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัวตามภาคการก่อสร้างทั้งเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นบ้างจากแรงสนับสนุนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีความชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก เงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่หดตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 แต่กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 93.0 ในเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะหมวดอาหาร ซึ่งหากบรรยากาศการลงทุนและการส่งออกยังคงเป็นเช่นปัจจุบัน คาดว่าการลงทุนในระยะต่อไปน่าจะขยับตัวสูงขึ้นต่อไปได้

สำหรับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของรัฐในปีงบประมาณ 2557 โดยรวมยังคงใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2556 โดยเริ่มขยับตัวสูงขึ้นในปลายไตรมาส 2 ตามการเบิกจ่ายในหมวดเงินเดือน เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง แต่หากพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ยังคงลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 เนื่องจากมีการโอนเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปมากแล้วในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านกำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรยังทรงตัวในระดับต่ำ โดยดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 จากผลของมาตรการของภาครัฐที่ยังรอความชัดเจน ทำให้ดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.1 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าเกษตร ทั้งราคายางพารา ข้าว และมันสำปะหลังที่หดตัวตามราคาในตลาดโลก ยกเว้นน้ำตาลทราย ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากผลผลิตน้ำตาลโลกที่ลดลงจากภัยธรรมชาติและการบริโภคที่เริ่มโน้มตัวสูงขึ้น สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน จากผลผลิตยางพาราที่ขยายตัวตามการเพิ่มพื้นที่ปลูกในหลายปีก่อน และผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 และยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลงตามการบริโภคจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในเดือนมิถุนายนโดยการผลิตเริ่มเพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มผลิตเพื่อรองรับเทศกาลแข่งขันฟุตบอลโลก สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวน้อยลงตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลง

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 608.4 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการชะลอตามเงินฝากประจำและกระแสรายวันที่หดตัว ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ขยายตัว ด้านสินเชื่อคงค้าง 794.0 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 359.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.1 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้าง 956.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.95 แต่เริ่มชะลอลงในเดือนมิถุนายน ตามราคาอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล ที่ลดลงจากมาตรการของทางการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.12 สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ยังอยู่ในระดับต่ำ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410 E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ