แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาสที่ 4 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 3, 2015 10:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2558

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ภาพรวมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย

แต่การฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐขยายตัวดี ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนแม้จะปรับดีขึ้นบ้าง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ยังหดตัวอยู่ เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของการใช้จ่ายสินค้าคงทน นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า สะท้อนจากผู้ประกอบการยังชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนผลผลิตสินค้าเกษตรค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงตามการผลิตประเภทเครื่องดื่มเป็นสำคัญ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคการเงิน เงินฝากและเงินให้สินเชื่อชะลอลงจากไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าคา ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน แม้ปรับดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน แต่ยังลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.6 ตามรายได้เกษตรกรที่ลดลง กอปรกับภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงยังระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าในหมวดยานยนต์ที่ยังลดลง สะท้อนจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกในเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน ผลของการจ่ายเงินช่วยเหลือของรัฐให้แก่ชาวนาและการจับจ่ายใช้สอยจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนให้สินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ด้านการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวค่อนข้างช้า ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างบ้างในช่วงปลายไตรมาส จากเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ก็เพิ่มขึ้นมาก

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ โดยรวมต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากยอดเบิกจ่ายงบประจำที่ลดลงเทียบกับปีก่อนที่มียอดโอนเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาจำนวนมาก ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 61.9 จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย ตามโครงการปรับปรุงและซ่อมสร้างของกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท

การส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.9 ตามความต้องการสินค้าในตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ไปยังเมียนมาร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารและยานยนต์ไปมาเลเซียและสิงคโปร์ ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.8 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนตัวเลขการส่งออกในช่วงต่อไป

ผลผลิตสินค้าเกษตร มีปริมาณใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยในส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลผลิตมันสำปะหลัง ลำไยนอกฤดูกาล จากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และผลผลิตปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่พันธุ์เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่ส่วนที่ลดลง ได้แก่ ผลผลิตสับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว จากภาวะภัยแล้ง โดยเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แม้ราคาข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้านาปี และถั่วเหลืองยังลดลง แต่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวม และรายได้เกษตรกร ไตรมาสนี้ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน แต่เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนยังลดลงร้อยละ 3.8

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 ที่สำคัญเป็นผลจากการเร่งผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมากในปีก่อน หลังจากมีความชัดเจนของโครงสร้างภาษี รวมถึงการย้ายการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์กลับไปผลิตในภาคกลางหลังจากที่ได้ย้ายมาผลิตในภาคเหนือในช่วงประสบอุทกภัย การผลิตสิ่งทอลดลง ตามการส่งออกไปตลาดยุโรป อย่างไรก็ดี การผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในไตรมาสนี้ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเลนส์ในอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ประเภทเซรามิกบนโต๊ะอาหาร เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์

สำหรับภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเริ่มเข้าฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคเหนือ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น การจัดโรดโชว์ไปตามหัวเมืองสำคัญในจีน การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีน มาตรการภาษีส่งเสริมเที่ยวทั่วไทย นักท่องเที่ยวชาวจีนยังเป็นสัดส่วนหลักและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากมีเที่ยวบินตรงและการบินเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นมาก

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเหลือร้อยละ 1.05 ตามการปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาอาหารสด ประเภทผักสด เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ตามอุปทานสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.6 โดยปรับลดลงจากไตรมาสก่อน

ภาคการเงิน เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 มียอดคงค้าง 595,647 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยมีการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต พาณิชย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อครัวเรือนเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน รวมทั้งสินเชื่อครัวเรือนเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังหดตัว ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 603,335 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนถอนเงินฝากไปลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับการแข่งขันระดมเงินฝากพิเศษผ่อนคลายลงจากช่วงก่อนหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837

E-mail : NanoAppFID@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ