สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 3, 2015 10:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ภาพรวมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวที่เร่งตัวมาก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะในด้านรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามผลผลิตกุ้งที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาการเกิดโรคระบาดในปีก่อนเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัว รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและมูลค่าการส่งออกลดลง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง การลงทุนภาคเอกชนหดตัว สะท้อนจากเงินให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ลดลงมาก ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.8 จากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและจีนเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากที่มีเทศกาลกินเจ 2 ครั้ง การได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าของนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและเหตุเกิดระเบิดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมทั้งจีนอยู่ระหว่างเริ่มประกาศใช้กฎคุมเข้มทัวร์ศูนย์เหรียญ

ดัชนีผลผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 11.5 ปรับดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 14.5 ในไตรมาสก่อนจากผลผลิตกุ้งขาวที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามผลผลิตยางลดลงเนื่องจากฝนตกชุกทำให้บางพื้นที่เพาะปลูกเกิดอุทกภัย ขณะเดียวกันผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงตามฤดูกาล ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 27.6 จากราคายางที่ยังตกต่ำและราคากุ้งขาวลดลงเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งการส่งออกกุ้งของไทยยังได้รับแรงกดดันจากผลผลิตประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้นำเข้ากุ้งหันไปสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 36.0

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.0 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตยางแปรรูปที่ลดลงตามการชะลอซื้อของตลาดหลักจีนและมาเลเซีย ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนมีการเร่งซื้อ เนื่องจากมาตรการยกเว้นการเก็บเงินสงเคราะห์ยาง (cess) ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามปริมาณวัตถุดิบ ขณะที่อุตสาหกรรมไม้ยางพารา และถุงมือยางขยายตัวได้ดี นอกจากนี้การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบกุ้งขาวเพิ่มขึ้น และการผลิตอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบทูน่าปรับลดลง ส่งผลให้คำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นก่อนที่ราคาวัตถุดิบทูน่ามีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลจับปลาเดือนธันวาคม

มูลค่าการส่งออกไตรมาสนี้มีจำนวน 3,834.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 9.3 ตามการส่งออกยางที่ลดลงจากผลด้านราคาและปริมาณ เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.2 จากการนำเข้าที่ลดลงของเครื่องจักรอุปกรณ์และน้ำมันเชื้อเพลิง

จากรายได้ของภาคเกษตร การผลิตและการส่งออกลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชน ของภาคใต้ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ชะลอจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.2 โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง จากการที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ สอดคล้องกับการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การนำเข้าสินค้าทุนและการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลลดลง

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 5.7 เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้กับท้องถิ่นโดยตรง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการจ่ายเงินเดือนโดยตรงให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จึงไม่ปรากฏตัวเลขดังกล่าวในการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการในภาคใต้ สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสนี้ รายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 16.9 ขณะที่รายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร

เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยชะลอทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค จากการหดตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมและสินเชื่อเช่าซื้อรถ ตามลำดับ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.42 ชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน เป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716 e-mail : Arunyas@bot.or.th

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837

E-mail : NanoAppFID@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ