ฉบับที่ 15/2558
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ตามการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแรงกว่าคาดขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากที่เคยประเมินไว้ตามราคาน้ำ มันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ทั้งนี้พัฒนาการสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้วิเคราะห์และนำมาประกอบการประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่(1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย (2) อุปสงค์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 อ่อนแรงกว่าที่คาด (3) การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดโดยเฉพาะงบลงทุน และ (4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าที่คาด
เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มรายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนและธุรกิจยังไม่เร่งใช้จ่ายแม้ว่าค่าครองชีพและต้นทุนการขนส่งจะลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ การใช้จ่ายภาคเอกชน จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่การเบิกจ่ายยังมีข้อจำกัดส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เร็วสอดคล้องกับการปรับงบประมาณ ที่เน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ประกอบกับการปรับค่างานด้านก่อสร้างให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้โครงการลงทุนบางส่วนล่าช้าออกไป นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาด และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน กดดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีและช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านต้นทุนลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่แรงกดดันจากด้านอุปสงค์ต่ำลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด
คณะกรรมการฯ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2558 ลง และประเมินว่าความเสี่ยงต่อประมาณการโน้มไปด้านต่ำ โดยโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน จากเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาดตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและจีนและการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจน้อยกว่าคาดจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบลงทุน มีมากกว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐาน จากการเร่งใช้จ่าย
ของภาครัฐผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจสูงกว่าคาด และการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่อาจสูงกว่ากรณีฐานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศต่ำกว่าคาด แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการเศรษฐกิจจึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 ลดลงจากประมาณการเดิมค่อนข้างมากและต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.5 + 1.5 แต่มีแนวโน้มกลับเข้าใกล้เป้าหมายในปี 2559 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการเดิม โดยความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองโน้มไปด้านต่ำ เพราะแรงกดดันด้านอุปสงค์อาจมีน้อยกว่าคาดจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่ากรณีฐาน และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอาจต่ำกว่าคาดหากมีการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเติม แผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการ
นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ภายใต้ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงจนอาจต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลง และไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดที่เกิดจากการหดตัวของอุปสงค์
ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่า แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าแต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งจะได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน ได้แก่ราคาพลังงานที่ลดลงเพราะโครงสร้างตลาดน้ำมันโลกที่เปลี่ยนแปลง จึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมเพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี กรรมการฯ ส่วนน้อยเห็นว่า ควรผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และลดทอนผลของภาวะการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลง รวมทั้งช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าเป้าหมายมาก
ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยกรรมการฯ ส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง และพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ในภาวะที่แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อน และเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า เป้าหมายไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้นขณะที่เสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดี กรรมการฯ ส่วนน้อยประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยมิได้เป็นอุปสรรคต่อการบริโภคและการลงทุนในปัจจุบัน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็นและมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจควรอาศัยแรงขับเคลื่อนจากด้านการคลังมากขึ้น และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะการก่อหนี้ของครัวเรือน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
ธนาคารแห่งประเทศไทย
20 มีนาคม 2558
ข้อมูลเพิ่มเติม: ณฐ์ภัชช์ พงษ์เลื่องธรรม โทร. 0 2283 5629 E-mail: napatp@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย