ฉบับที่ 24/2558
ในเดือนมีนาคม 2558 เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง ขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงในเกือบทุกหมวด โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จึงยังอ่อนแอ แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐจะมีมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าหลังปรับฤดูกาลลดลงในเกือบทุกหมวด เพราะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอาเซียน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกหลายหมวด อาทิ ปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ยังอยู่ในระดับต่ำฃาตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีจึงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแอ โดยครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้และ การจ้างงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกลดลง รายได้เกษตรกรต่ำลงทั้งจากผลผลิตที่ออกมาน้อยและราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกค่ำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนที่ไม่รวมเชื้อเพลิง หมวดสินค้ากึ่งคงทนและหมวดบริการลดลง และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงทำให้ธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง แม้ต้นทุนทางการเงินจะต่ำลงบ้างจากผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งในกลุ่มที่ขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออก อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงเช่นกัน ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่ การลงทุนในด้านก่อสร้างทรงตัว เพราะผู้ประกอบการบางส่วนรอประเมินทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงจากเดือนก่อน ทั้งสินค้าทุน วัตถุดิบ (ไม่รวมน้ำมันดิบ) และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบที่เคยลดลงมากในช่วงก่อนหน้าเริ่มทรงตัวตามราคาน้ำมันโลกที่เริ่มมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น
แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวมีมากขึ้น โดยเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐมีมากขึ้นจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ ด้านคมนาคม ขนส่งและชลประทาน ขณะที่รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลเป็นส้าคัญ สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีจากการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนและมาเลเซียเป็นหลัก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง สำหรับ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลเล็กน้อยจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะ การลงทุนโดยตรง ซึ่งมากกว่าการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมแล้วดุลการชำระเงินเกินดุล
เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ยังอ่อนแอ ตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชน ที่ลดลงซึ่งมีส่วนทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการลงทุน และ ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลง รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงขาดดุลจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นส้าคัญ แต่โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค
โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648
e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย