ฉบับที่ 28/2558
ในเดือนเมษายน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ และเปราะบาง โดยครัวเรือนและธุรกิจใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ขณะที่การส่งออกสินค้าค่อนข้างซบเซาตามการค้าในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐยังคงมีบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง
ครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่แผ่วลง และรายได้เกษตรกรที่ยังคงถูกกดดัน ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำและจากผลผลิตที่ออกมาน้อยเพราะภาวะภัยแล้งในปีก่อน เมื่อประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนจึงลดลง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัว ส่วนเครื่องชี้การใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนและหมวดบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร คาดว่าเป็นผลจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แม้ต้นทุนการเงินปรับลดลงบ้างตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะต้นทุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ แต่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ซบเซาท่าให้ผู้ประกอบการยังไม่มีความจำเป็นต้องขยายก่าลังการผลิต จึงมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์น้อยลง ส่วนการลงทุนด้านก่อสร้างทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนยังรอประเมินความคืบหน้าของ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และความชัดเจนของการฟื้นตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์
การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว โดยในเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากตลาดอาเซียนที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เมื่อประกอบกับการฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป และราคาสินค้าส่งออกหลายรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบ มูลค่าการส่งออกสินค้าจึงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็น การหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า
การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าแผ่วลงจากเดือนก่อนสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ทั้งกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม สำหรับการนำเข้าสินค้าลดลงในหมวดสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ไม่ใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี การนำเข้าน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นบ้างตามทิศทางราคาน้ำมันโลก ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างทรงตัว
ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวจีนและมาเลเซีย ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทานยังมีอยู่ต่อเนื่อง แม้เม็ดเงินเบิกจ่ายลดลงบ้างหลังจากที่เร่งขึ้นมากในเดือนก่อน สำหรับรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นมากจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่อาจไม่ได้สะท้อนการขยายตัวดีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นผลจากการเลื่อนเวลานำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลเป็นหลัก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคการผลิตที่ดีขึ้นบ้าง หลังลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี อัตราเงินเฟ้อต่ำลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามการปรับลดอัตราจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของภาครัฐ รวมทั้งยังมีผลของราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่ที่ลดลงเพราะอุปทาน ล้นตลาด และอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวช้า สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่ลดลง ขณะที่ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในกิจการ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมทั้งมีการปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงิน โดยรวมแล้วดุลการชำระเงินเกินดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค
โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648
e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย