ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริบทของเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในมิติต่างๆ อาทิ การค้าระหว่างประเทศชะลอลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ระบบการเงินโลกที่เชื่อมโยงมากขึ้นและส่งผลต่อภาวะการเงินในประเทศ เงินเฟ้อที่มีทิศทางต่ำลงโดยเป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น และโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่อาจบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถจำกัดความได้ว่าเป็นบริบทใหม่ หรือ New Normal ที่จะส่งผลกระทบสำคัญต่อรูปแบบและแนวโน้มของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว สัมมนาวิชาการในปีนี้จึงมุ่งที่จะวิเคราะห์สาเหตุ ประเมินความสำคัญรวมทั้งศึกษาผลกระทบของ New Normal ต่อเศรษฐกิจไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประสิทธิผลของนโยบายการเงิน แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า รวมถึงตลาดแรงงานไทยในสังคมสูงวัย ผลิตภาพการผลิต การกระจายรายได้ และความยั่งยืนภาคการคลัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องเริ่มทำความเข้าใจและปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา การสัมมนาวิชาการในปีนี้จะเป็นเวทีที่เปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายสาขา โดยจะมีการนำเสนองานวิจัยจากนักวิชาการทั่วประเทศรวม 6 บทความ ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้
ภายหลังวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551-2552 การค้าระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ โดยทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าการค้าระหว่างประเทศของโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่
ปัจจัยใดที่ทำให้รูปแบบการค้าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
การส่งออกและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร
โอกาสและความท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีด้านการเงินการธนาคาร และความเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มีมากขึ้น
กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางด้านการให้สินเชื่อได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินโลกและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการแข่งขันในภาคธนาคาร อย่างไร
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นส่งผลอย่างไรต่อพลวัตเงินเฟ้อไทย เงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำและผันผวนน้อยลงตั้งแต่ปี 2543 จะส่งผลให้เงินเฟ้อไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือไม่ และมีนัยยะอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายการเงิน
จำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงานและโครงสร้างประชากรของประเทศ
จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย โครงสร้างตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในมุมมองด้านผลิตภาพการผลิต การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำ
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรมีผลกระทบต่อภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาลและความจำเป็นต่อการปฏิรูประบบบำนาญเพื่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะ ยาวได้อย่างไร
การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของประเทศไทยในระยะยาว การกระจายรายได้ และความเท่าเทียมกันของคนในสังคมมากน้อยเพียงใดนอกจากนี้ ในงานจะมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย” (Democratic Governance - A New Normal to Strive for) โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และในช่วงท้ายของงานสัมมนาจะมีการเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอ๊ดไวเซอร์ จำกัด
ธปท. จะจำหน่ายบัตรเข้าร่วมการสัมมนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในราคาบัตรละ 3,000 บาท ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่ง/ซื้อบัตร และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายนโยบายการเงิน ธปท. โทร. 0 2283 6980,0 2356 7516, 0 2356 7389 โทรสาร 0 2282 5082 หรือ E-mail: BOTSymposium2015@bot.or.thหรือผ่าน website ธปท. www.bot.or.th
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม: สายนโยบายการเงิน ธปท.
โทรศัพท์ 0 2283 6980
โทรสาร 0 2282 5082
E-mail: BOTSymposium2015@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย