แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 3 ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 3, 2015 09:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคเอกชน และการค้าชายแดนที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการลงทุนภาคเอกชน รายได้เกษตรกรและผลผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังซบเซา สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามการจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมถึงการก่อสร้างภาครัฐและการใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าคงทนหมวดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัว โดยรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งสถาบันการเงินและบริษัทลิสซิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวดี สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม ราคาห้องพักเฉลี่ย และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าร่วมการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้ยอดขายสินค้าจำเป็นขยายตัวและมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ตามการก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสาธารณสุขจังหวัด ส่วนการเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็กอยู่ในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 78.9 แม้ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยใน 4 ปีงบประมาณหลังสุด

ในด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ที่ชัดเจนอุตสาหกรรมส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้ผลิตเต็มศักยภาพ ภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลง ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และยอดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

รายได้เกษตรกร ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับดีขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากภาวะแห้งแล้งและระดับน้ำในเขื่อนสำคัญอยู่ต่ำกว่าเฉลี่ยมาก พื้นที่เพาะปลูกลดลงและผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 14.1 โดยเฉพาะพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดและลำไย มีผลผลิตต่อไร่ลดลง ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตร ไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 0.7 ต่อเนื่องมาหลายไตรมาส

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 5.8 ส่วนหนึ่งเป็นการลดลงของการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ จากภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอลง รวมถึงอุปกรณ์บางประเภทมีภาวะแข่งขันสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นการลดลงของสินค้าแปรรูป เช่น การสีข้าว แปรรูปผักและผลไม้ ซึ่งวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ผลผลิตที่ขยายตัวในไตรมาสนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ รวมถึงการผลิตเครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากระตุ้นตลาด

การส่งออกลดลงร้อยละ 3.6 จากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาและลาว ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้ก็ลดลง นอกจากนี้ การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ทางด้านมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.76 ประการสาคัญมาจากราคาขายปลีกน้ามันในประเทศและก๊าซหุงต้มที่มีแนวโน้มลดลง แต่ราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะมีผลผลิตน้อยลงจากผลกระทบภาวะแห้งแล้ง ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 โดยมีแรงงานบางส่วนในภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งย้ายไปทางานในภาคบริการ ค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดเงินฝากคงค้าง 604,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากเงินฝากออมทรัพย์เป็นสาคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 616,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ให้เป็นทุนหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิต สินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจการเงิน ค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม และการก่อสร้าง รวมถึงสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 102.0 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ