แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 3, 2015 10:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 17/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าจำเป็น ส่วนหนึ่งจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลงรวมทั้งรายได้ภาคบริการที่ขยายตัว อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัว ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐชะลอลงเป็นลำดับจากที่เร่งเบิกจ่าย ไปมากแล้วในช่วงไตรมาสแรก สำหรับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ด้านอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบเท่ากับไตรมาสก่อน ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยเฉพาะจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคยอดขายในห้างสรรพสินค้าและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังขยายตัวดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลงตามราคาพืชผลที่ปรับตัวดีขึ้นประกอบกับมีแรงงานที่ย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังปริมาณน้ำฝนเอื้อต่อการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ รายได้ภาคบริการในธุรกิจสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสอดคล้องกับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 42.7 สูงกว่าไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงปลายไตรมาสแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะรถยนต์ยังคงหดตัว

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากด้านราคาพืชผลที่ปรับดีขึ้นเป็นสำคัญโดยเฉพาะราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 21.7 ตามความต้องการของจีนที่มีอย่างต่อเนื่องและราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอจากปัญหาภัยแล้งขณะที่ราคายางพาราแม้จะหดตัวน้อยลง แต่ยังทรงตัวในระดับต่ำรวมทั้งราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิหดตัวมากขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำหรับด้านผลผลิตยังคงหดตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่นมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน

การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจของภาคได้บ้าง โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนราชการมีการเร่งเบิกจ่ายไปมากแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 โดยการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง และกรมชลประทานลดลง อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางมีการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเร่งเบิกจ่ายในหมวดครุภัณฑ์ในเดือนกันยายน ตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลเป็นสำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.8 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัว เนื่องจากโรงงานมีการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน นอกจากนี้ การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปรับดีขึ้นตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงลดลง ตามความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ลดลงจากการเปลี่ยนรสนิยมของผู้บริโภคที่หันไปใช้สินค้าไฮเทคมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 75.5 ปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้าโน้มสูงขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.3 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวร้อยละ 7.0 ตามการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และเพื่อการบริการ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ยังขยายตัวดี ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังคงหดตัว ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการหดตัวน้อยกว่าไตรมาสก่อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานขนาดใหญ่เป็นสำคัญ สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลง ตามการลดลงของธุรกิจในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟา หมวดบริการและสาธารณูปโภค และหมวดเกษตรและผลิตผลการเกษตร ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนบางส่วนยังรอความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังมีกิจการขนาดใหญ่บางแห่งให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในภาค โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบด้านการเกษตรเป็นสำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตเยื่อกระดาษ ที่จังหวัดมหาสารคาม มีมูลค่าเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท และกิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืช และไซโล ในจังหวัดร้อยเอ็ด มูลค่าเงินลงทุน 2,093 ล้านบาท เป็นต้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.45 และ ติดลบเท่ากับไตรมาสก่อน จากผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสด รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านมีราคาสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.82 สูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้านเป็นสำคัญ ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำที่ ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ แรงงานนอกภาคเกษตรมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานภาคเกษตรมากขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2558 เงินฝากคงค้างและสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อขยายตัวจากทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อภาคการผลิต และ การก่อสร้างเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ