ฉบับที่ 22/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 โดยรวมขยายตัวเล็กน้อย จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐประกอบกับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบจากรายได้เกษตรและความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำลง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ด้านอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้
ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงหนุนสำคัญของภาพรวมเศรษฐกิจ ถึงแม้ได้รับผลกระทบระยะสั้นจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และการชุมนุมทางการเมืองของมาเลเซียในช่วงเดือนสิงหาคม โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.1 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ตอนล่างจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับอัตราเข้าพักที่เพิ่มขึ้น
ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนทั้งยางปาล์มน้ำมันและกุ้งขาว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลง โดยราคายางลดลงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อาทิ ราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำสุดในรอบ 6 ปี และอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ราคาปาล์มน้ำมันมีแรงกดดันเพิ่มจากสต็อกที่สูงกว่าระดับปกติกว่าเท่าตัว และราคากุ้งขาวได้รับผลกระทบจากประเทศคู่แข่งมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ
การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอลงประกอบกับวัตถุดิบปลาและหมึกมีน้อยจากการที่อินโดนีเซียยกเลิกการให้สัมปทานเรือต่างชาติ รวมทั้งการออกกฎระเบียบของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้เรือประมงออกเรือได้น้อยลง อย่างไรก็ตามการผลิตยางแปรรูปและไม้ยางเพื่อส่งออกไปตลาดหลักจีนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีการนำเข้ายางแผ่นรมควันและยางแท่งเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนยางคอมพาวนด์ที่นำเข้าลดลงจากความไม่มั่นใจคุณภาพของส่วนผสมที่กำหนดใหม่ ขณะเดียวกันการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบ
ด้านมูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนลดลงทุกหมวดสินค้าทั้งยางแปรรูปไม้ยางแปรรูปถุงมือยางสัตว์น้ำและอาหารทะเลกระป๋องส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงจากการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้าง สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นแม้จะได้รับปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภค รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับห้างสรรพสินค้ามีการเพิ่มกลยุทธ์ส่งเสริมการขายมากขึ้นกว่าปีก่อนและต่อเนื่อง และมีการลดราคารถยนต์รุ่นเก่าเพื่อเปิดตัวรุ่นใหม่ รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2559 ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์บางรุ่นสูงขึ้น ส่งผลให้มีการเร่งซื้อมากขึ้น
การลงทุนภาคเอกชนยังคงซบเซาโดยเครื่องชี้สำคัญลดลง ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมก็ลดลงอย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการขยายกิจการและการลงทุนใหม่ในบางธุรกิจ อาทิ โรงแรม ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางพารา อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการก่อสร้างด้านคมนาคมขนส่งและชลประทานยังดำเนินการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามชะลอลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่าย ด้านรายได้การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนการจัดเก็บภาษีสุราลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสุราลดลง รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าลดลง
ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หดตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 4.4 ตามการหดตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการบันทึกบัญชี โดยโอนสินเชื่อไปบันทึกบัญชีที่สำนักงานใหญ่ ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องตามสินเชื่อเพื่อการผลิตและค้าปลีกค้าส่ง ขณะที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับร้อยละ 1.15 เพิ่มจากร้อยละ 1.02 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการจ้างงานที่ลดลงด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.46 เนื่องจากผลของฐานราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงทยอยหมดลง ขณะเดียวราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้ง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4716 e-mail :Arunyas@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย