ฉบับที่ 24/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนตุลาคม 2558 ภาพรวมขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง รวมทั้งรายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ายังอ่อนแอ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่หดตัว อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามยอดขายของห้างสรรพสินค้า และราคาน้ำมันที่ลดลงสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบตามราคาพลังงาน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน แต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวหลักจีนและมาเลเซีย ส่วนหนึ่งยังมีผลกระทบจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวจีนยังขยายตัวสูงในฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากมีวันหยุดยาวในช่วงวันชาติจีน สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจมาเลเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียชะลอลงเช่นเดียวกัน แต่ยังคงขยายตัวในภาคใต้ตอนล่างในช่วงเทศกาลกินเจ
การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐแผ่วลง เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นปีงบประมาณ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก ทำให้ต้องปรับการคำนวณราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้าออกไป โดยการเบิกจ่ายส่วนใหญ่เป็นการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร และถนนของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมทางหลวงชนบท ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสำคัญ
รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงทั้งยาง ปาล์มน้ำมันและกุ้งขาว เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังซบเซาและความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ประกอบกับสต็อกยางในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางลดลงต่อเนื่อง ส่วนปาล์มน้ำมันได้รับแรงกดดันจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและสต็อกน้ำมันปาล์มที่อยู่ในระดับสูง ด้านผลผลิตกุ้งขาวออกสู่ตลาดมากขึ้นในขณะที่ความต้องการของตลาดคู่ค้ายังทรงตัวราคาจึงลดลง
การส่งออกหดตัวตามมูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องจากความต้องการที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้าและราคาส่งออกที่ลดลง รวมทั้งปัญหาวัตถุดิบปลาและหมึกมีปริมาณน้อยลงจากการที่อินโดนีเซียยกเลิกการให้สัมปทานแก่ต่างชาติ และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายทำให้เรือประมงออกจับสัตว์น้ำได้น้อยลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกลดลงเกือบทุกหมวด ยกเว้นการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหลักจีนที่มีปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นการฟื้นตัวอสังหาริมทรัพย์ของจีน
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว โดยเครื่องชี้สำคัญได้แก่ ยอดขายจากห้างสรรพสินค้ายอดขายสินค้ากึ่งคงทนและยอดขายหมวดบริการที่ขยายตัวจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลงมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัว ผู้ประกอบการลงทุนด้วยความระมัดระวัง ยังไม่เห็นสัญญาณการลงทุนขนาดใหญ่
เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.08 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.93 ในเดือนก่อน ตามการจ้างงานที่ลดลงในภาคการผลิต การค้าและบริการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบที่ร้อยละ 1.16 ตามราคาพลังงานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามราคาผักและผลไม้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 0.7 จากเงินฝากประจำและบัตรเงินฝากที่ลดลง ด้านเงินให้สินเชื่อลดลงร้อยละ 4.4 ตามการหดตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการบันทึกบัญชี โดยโอนสินเชื่อไปบันทึกบัญชีที่สำนักงานใหญ่ ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องตามสินเชื่อเพื่อการผลิตและค้าปลีกค้าส่ง ขณะที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716
E-mail : Arunyas@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย