แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 29, 2016 11:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2559

ในเดือนธันวาคม 2558 เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับผลบวกเพิ่มเติมจากปัจจัยชั่วคราว การใช้จ่ายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหดตัวสูงเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอลง รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดยังคงปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง ในทุกภาคส่วนส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบด้วยผลของราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราการว่างงานต่ำกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐทำได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ไม่รวมเงินอุดหนุนขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 44.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งรัดการลงทุนในโครงการด้านคมนาคมและชลประทาน และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กที่ทำได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บรายได้ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับดีขึ้น แต่ส่วนหนี่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวตาม (1) รายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G (2) รายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เร่งขึ้นตามการซื้อรถยนต์ ในเดือนนี้ และ (3) รายได้จากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ ด้านอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้า ไม่คงทนที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนได้รับผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อรถยนต์ โดยรายได้นอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นบ้าง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำช่วยชดเชยปัจจัยถ่วงจากรายได้เกษตรกรที่โดยรวมยังต่ำกว่าปีก่อน นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับผลเพิ่มเติมจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายปี 2558 ของภาครัฐ แต่บางส่วนเป็นการเลื่อนการบริโภคให้เร็วขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่การฟื้นตัวยังจำกัดอยู่เฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงที่ร้อยละ 9.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากปริมาณการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว ประกอบกับผลจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การเร่งส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่ เริ่มหมดลง ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดทัศนูปกรณ์ (Optical appliance and instruments) แม้จะยังขยายตัวได้ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอลงตามอุปสงค์โลกต่อสินค้าสมาร์ตโฟนที่ชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด สะท้อนจากระดับสต็อกโลกที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ด้านราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมหดตัวต่อเนื่อง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมปรับดีขึ้น แต่สาเหตุหลักเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การเร่งผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และการผลิตยางแผ่นและยางแท่งไปยังประเทศจีนหลังรัฐบาลจีนปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางสังเคราะห์ ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำแต่มีทิศทางปรับดีขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ยังคงขยายตัวบ้าง จากการลงทุนภาคบริการในกลุ่มพลังงานทดแทนและกลุ่มโทรคมนาคมที่ยังดีต่อเนื่อง ประกอบกับผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ ส่วนการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงยังหดตัวสูงตามราคาน้ำมัน การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงหดตัวต่อเนื่องตามภาวะการส่งออกที่ซบเซา ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวตามการนำเข้าในหมวดอุปกรณ์สื่อสารที่ความต้องการโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามทิศทางการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการบริโภคภาคเอกชน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ -0.85 จากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดพลังงานเป็นหลัก สำหรับอัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากการจ้างงานนอก ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นตามภาคบริการที่ขยายตัวได้ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ประกอบกับรายรับจากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงขาดดุลสุทธิ จาก (1) การขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน สอดคล้องกับการไหลออกของเงินทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ (2) การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและ การลงทุนโดยตรงของธุรกิจไทยที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามความสามารถในการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคบริการที่ขยายตัวดี และการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว จากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ และส่วนหนึ่งได้รับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติม แต่ยังมีปัจจัยถ่วงจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วตามคาดหลังเกิดเหตุระเบิด อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูง จากผลของราคาสินค้าหลายชนิดที่หดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและปริมาณที่หดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียนเป็นหลัก ด้านการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้าง โดยการลงทุนในบางสาขาธุรกิจดีขึ้นตามการลงทุนในภาคโทรคมนาคมและพลังงานทดแทน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจาก ผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอยหมดลง อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามมูลค่าการนำเข้าที่ยังซบเซา และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ