ฉบับที่ 17/2558
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2558 มีบางส่วนดีขึ้นแต่โดยทั่วไปยังได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาโดยเฉพาะภาคเกษตร ส่วนที่ยังดีต่อเนื่องแม้ชะลอลงบ้าง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคหมวดสินค้าจำเป็น โดยในส่วนที่เห็นปรับดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชน รายได้เกษตรกรและการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังลดลงต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือทั่วไปยังใช้ได้ พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงตามราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการและค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งย้ายมาจากภาคเกษตร ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนกันยายนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในเดือนนี้ยอดขายสินค้าคงทนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 28 เดือน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการแข่งขันส่งเสริมการขาย ลูกค้าทยอยซื้อก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตในต้นปีหน้า และสินเชื่อยานยนต์ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นยังเพิ่มขึ้นแม้อัตราไม่สูงนัก โดยมีส่วนสัมพันธ์กับภาวะท่องเที่ยวและภาคบริการที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการบริโภคในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้ายังคงขยายตัวต่อ อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปในภาคเหนือตอนล่างบางจังหวัดยังซบเซา เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวน้อยกว่าและภาวะตกต่ำของภาคเกษตร
ภาคการท่องเที่ยว แม้ในเดือนนี้ชะลอลง แต่ยังมีแรงส่งได้ต่อเนื่อง เครื่องชี้สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม ราคาห้องพักเฉลี่ย และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร โดยนักท่องเที่ยวเริ่มมีกระจายตัวเข้ามามากขึ้นทั้งจากสหรัฐ ยุโรป ไม่เพียงเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
การเบิกจ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ส่วนสำคัญจากการโอนเงินอุดหนุนให้กับสถาบันการศึกษา ขณะที่อัตราการเพิ่มของการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลง ส่วนหนึ่งจากฐานสูงปีก่อน แม้บางส่วนชดเชยจากเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังคงลดลงต่อ โดยเดือนนี้ลดลงร้อยละ 3.4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ภาวะซบเซาในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยยังไม่เห็นการเพิ่มการลงทุนใหม่และขยายการผลิตเพิ่มเติม
รายได้เกษตรกร อยู่ในระดับต่ำและลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฤดูฝนมาล่าช้าและทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.3 สะท้อนให้เห็นจากผลผลิตพืชสำคัญลดลงทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสับปะรด อย่างไรก็ดี ผลผลิตปศุสัตว์ ได้แก่ สุกรและไก่เนื้อ มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการบริโภคโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ราคาปศุสัตว์ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวลดลง แต่ราคาสับปะรดเพิ่มขึ้นมาก ช่วยชดเชยให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตร โดยรวมยังลดลงเท่ากับเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงมากที่ร้อยละ 16.5 จากทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงทุกประเภทสินค้า ส่วนหนึ่งจากฐานสูงปีก่อน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอลง บางรายไม่สามารถปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี การแปรรูปผักและผลไม้กลับมาขยายตัวได้ รวมถึงการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศลดลง ได้แก่ การสีข้าวที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังมีสต็อกเหลืออยู่จากที่ได้เร่งผลิตไปมากในเดือนก่อน
ในส่วนของการส่งออก หดตัวร้อยละ 10.0 ส่วนสำคัญมาจากภาวะแข่งขันมากขึ้นในหมวดสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งไปญี่ปุ่น มาเลเซียและฮ่องกง การส่งออกผ่านด่านชายแดนลดลงเล็กน้อย โดยมีส่วนที่ลดลงได้แก่ สินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทั้งปริมาณและราคา สินค้าที่ส่งไป สปป.ลาวและจีนตอนใต้ลดลง โดยในส่วนจีนตอนใต้ยังได้รับผลกระทบจากที่ทางการจีนยังเข้มงวดการนำเข้าสินค้าจากไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมาขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการนำเข้า ลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 14.0 จากการลดนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลง ลดลงร้อยละ 1.4 เนื่องจากราคาผักและผลไม้เร่งตัวขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ส่วนราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ลดลงเล็กน้อย ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการและค้าปลีกค้าส่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่ย้ายมาจากภาคเกษตร
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดเงินฝากคงค้าง 604,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากเงินฝากออมทรัพย์เป็นสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 616,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ให้เป็นทุนหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิต ภาคธุรกิจการเงิน ค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม และการก่อสร้าง รวมถึงสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 102.0 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 5393 1164
e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย