แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 7, 2015 14:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 8/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาพรวมฟื้นตัวขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าจำเป็นด้วยปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง การใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐมีบทบาทเพิ่มขึ้น และการส่งออกผ่านด่านชายแดนยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรที่หดตัวต่อเนื่องจากผลของภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมทรงตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว เนื่องจากภาคธุรกิจรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ชัดเจนขึ้น เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมี ดังนี้ ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนที่เดินทางเข้ามาด้วยเที่ยวบินตรง เช่าเหมาลำและคาราวานรถยนต์เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ส่วนหนึ่งจากการจัดกิจกรรมและการประชุมสัมมนาของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ลดลง สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน

การบริโภคกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 1.4 ตามการจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีน อีกทั้งราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ยังหดตัวจากความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเช่าซื้อ รายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย

การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 ตามการปรับปรุงและซ่อมสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมถึงการซ่อมแซมระบบชลประทานและการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน

ด้านการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนขยายตัวในอัตราชะลอลงโดยเฉพาะเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดนำเข้าสินค้าของเมียนมาและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ขณะที่การนำเข้า ลดลงร้อยละ 8.3 ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งมีการนำเข้ามามากแล้วในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากเร่งผลิตจากข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมใหม่ อีกทั้งเพื่อรองรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม การผลิตชิ้นส่วนเลนส์กล้องถ่ายภาพ เครื่องใช้เซรามิกบนโต๊ะอาหาร และผลิตภัณฑ์จากไม้ยังเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดส่งออก สำหรับสินค้าที่ผลิตลดลง ได้แก่ สิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอาหารแปรรูปสินค้าเกษตร

สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 3.6 ที่สำคัญเป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อีกทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะราคาข้าว อ้อย และถั่วเหลืองที่อยู่ในระดับต่ำ ตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่พันธุ์เนื้อและไข่ไก่ยังลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกร โดยรวมลดลงร้อยละ 5.8 ภาคการลงทุนยังซบเซา ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 8.0 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงจากภาคการก่อสร้างโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล รายได้ค่าธรรมเนียมที่ดิน รวมทั้งการลดลงของปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ดี มูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.8 ซึ่งลดลงเป็นไตรมาสแรกในรอบ 5 ปี ตามการปรับลดของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ประกอบกับราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ ไก่และไข่ไก่ลดลง ตามปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มียอดคงค้าง 602,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีกค้าส่ง การก่อสร้างและสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัย ด้านเงินฝาก มียอดคงค้าง 613,958 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.5 ส่วนหนึ่งจากเงินงบประมาณของของส่วนราชการและสถาบันการศึกษาที่ฝากไว้ชั่วคราว ก่อนนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ในช่วงต่อไป รวมทั้งการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ