แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 30, 2015 14:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 10/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ เดือนพฤษภาคม 2558 ภาพรวมยังชะลอลงจากเดือนก่อนตามที่คาด อุปสงค์โดยรวมยังอ่อนแอโดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนยังคงซบเซา ตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านการผลิตลดลงทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเหนือ อีกทั้งการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวดีทุกตลาด สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากราคาพลังงานและอาหารสด อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แม้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง แต่ชดเชยจากการจ้างงานภาคก่อสร้าง ด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนเมษายนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนเงินให้สินเชื่อชะลอลงจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้

การใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนยังซบเซา โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน แม้ปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยวและส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการและการก่อสร้างภาครัฐ รวมถึงราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ สนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังหดตัว เนื่องจากอุปสงค์รวมแผ่วลงมาก ตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถาบันการเงินยังมีความระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อในหลายๆ ธุรกิจมากขึ้น

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังคงลดลงร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในสัดส่วนน้อยกว่า โดยต้นทุนดอกเบี้ยการดำเนินงานของธุรกิจลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอุปทานสะสมเหลือจำนวนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นจากเครื่องชี้สำคัญลดลง ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะให้กับโครงการภาครัฐและเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ยังเพิ่มขึ้น

ในภาคการผลิต ผลผลิตลดลงทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 25.1 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรัง สับปะรดและลิ้นจี่ลดลงจากภัยแล้งและสภาพอากาศร้อนจัด เป็นสาเหตุให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตปศุสัตว์แม้มีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ราคาลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 24.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 ตามผลผลิตหมวดอาหารโดยเฉพาะการสีข้าวที่ลดลงตามวัตถุดิบเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับการผลิตเครื่องดื่มลดลงชั่วคราวจากการซ่อมบำรุงเครื่องจักร อย่างไรก็ดี ผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ การแปรรูปผักและผลไม้เพิ่มขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคเหนือ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อนตามฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ รวมถึงการประชุมและจัดกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังมีอยู่ทั่วไปในหัวเมืองสำคัญ ส่วนจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักยังเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน

ภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องในส่วนของ การเบิกจ่ายงบลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ส่วนใหญ่จากโครงการซ่อมสร้างและบำรุงรักษาทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและพัฒนาระบบชลประทาน ขณะที่โครงการขนาดใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

มูลค่าการส่งออก กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ตามการส่งออกผ่านด่านชายแดนในสินค้าประเภทเครื่องจักร เครื่องใช้ทางการเกษตรและรถจักรยานยนต์ไปเมียนมา ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปลาวและจีนตอนใต้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปประเทศอื่นๆ ยังลดลงตามการส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัว เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนมูลค่าการนำเข้า ยังลดลงร้อยละ 3.1 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก เฟอร์นิเจอร์สิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้และสินค้าเกษตร

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นเดือนที่ 5 ด้วยเหตุผลเดียวกับเดือนก่อนคือราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำและราคาอาหารสดลดลง ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง

ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2558 มียอดคงค้าง 615,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากการเพิ่มของเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานต่ำปีก่อน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 601,896 ล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 5.2 โดยยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ SME และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่มีภาคธุรกิจบางส่วนลดต้นทุนการดำเนินงานด้วยการชำระหนี้คืน ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ