ฉบับที่ 12/2558
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากการบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง ภาคธุรกิจมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผลจากภาวะแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากปีก่อน ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเครื่องดื่มและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเหนือคล้ายกับแรงขับเคลื่อนของประเทศคือ ภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ ส่วนการส่งออกรวมของภาคเหนือยังขยายตัวโดยได้รับอานิสงค์จากการค้าชายแดน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงจากราคาน้ำมันและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน กลับมาลดลงร้อยละ 1.0 จากสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ และจักรยานยนต์ สอดคล้องกับการอ่อนแรงของอุปสงค์โดยรวม ทั้งรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังซบเซาต่อเนื่อง ความกังวลต่อภาคหนี้ครัวเรือนและสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อถือเป็นปัจจัยลบต่ออุปสงค์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ การก่อสร้างภาครัฐ และหมวดเชื้อเพลิงยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 6.7 ต่อเนื่องอีกไตรมาส ส่วนสำคัญมาจากการซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดลงในการผลิตอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนเพิ่มหรือขยายกำลังการผลิตออกไป สะท้อนให้เห็นจากเครื่องชี้ที่ลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเบา
รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ19.5 ต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นผลจากปริมาณผลผลิต โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 19.3 จากผลผลิตข้าวนาปรัง สับปะรดและลิ้นจี่ลดลงจากผลกระทบภาวะแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงนาน อย่างไรก็ตาม การผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 0.3
ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 5.6 โดยผลผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง จากการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร ประกอบกับโรงงานเร่งผลิตไปมากในไตรมาสก่อนแล้ว ผลผลิตจากการสีข้าวลดลง จากผลผลิตข้าวนาปรังลดลงดังกล่าว นอกจากนี้ การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องหนังก็ลดลง จากภาวะแข่งขันสูง อย่างไรก็ดี ผลผลิตที่ขยายตัวได้แก่ ผักและผลไม้ แช่แข็ง น้ำตาล และสิ่งทอ
ปัจจัยบวกที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือคล้ายกับของประเทศก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อนตามฤดูกาล เครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม ราคาห้องพักเฉลี่ย และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวดี โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลักยังเป็นชาวจีนที่มีความสะดวกทั้งเดินทางโดยรถยนต์และด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ทั้งนี้ เที่ยวบินตรงจากเมืองต่างๆ ในประเทศจีนที่มีการเปิดเส้นทางเพิ่มขึ้น รวมถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นจากการประชุมและจัดกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การเบิกจ่ายงบลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 แต่เม็ดเงินเบิกจ่ายชะลอลงบ้างหลังจากที่เร่งขึ้นมากในไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงซ่อมแซมถนน ชลประทาน และการก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษาและสาธารณสุข
ด้านมูลค่าการส่งออก ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.5 โดยการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดน และผักผลไม้แช่แข็งยังขยายตัว แต่ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือลดลง เนื่องจากภาวะการแข่งขันด้านราคาที่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้เกาหลีใต้และจีน มูลค่าการนำเข้า ลดลงร้อยละ 3.4 ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตและส่งออกแผงวงจรรวมและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.7 ตามราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและค่าไฟฟ้าผันแปร ประกอบกับราคาอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ไก่และไข่ไก่ ชะลอลงตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 โดยการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง และเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคค้าปลีกค้าส่งและการก่อสร้าง
ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดเงินฝากคงค้าง 608,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากออมทรัพย์ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 609,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ตามความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นโดยกระจายตัวในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง การเงิน ก่อสร้าง ขนส่ง โรงแรม และอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 100.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย