ฉบับที่ 14/2558
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2558 โดยรวมยังอ่อนแอ ภาคเกษตรลดลงทั้งปริมาณและราคา ภาคอุตสาหกรรมลดลงโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีด้านอุปสงค์ทั้งการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซาและไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การส่งออกปรับลดลงมาก ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ภาครัฐกลับมาเบิกจ่ายงบลงทุนในอัตราที่ดีกว่าเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตที่ชะลอลง แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนกรกฎาคมปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่เงินฝากชะลอตัว
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ผลผลิตภาคเกษตร แม้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่แนวโน้มยังหดตัวต่อเนื่อง หรือลดลงร้อยละ 11.9 โดยผลผลิตข้าวนาปรัง ลำไยและสับปะรดลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาภาคเกษตรยังปรับลดลง ทำให้รายได้เกษตรกร ยังหดตัวต่อเนื่องและยังซบเซาอยู่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 7.0 ตามการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เซรามิกและเลนส์กล้องถ่ายรูป ประกอบกับการผลิตอาหารแปรรูปสินค้าเกษตรลดลง เพราะวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง เช่น การสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้ ขณะที่ผลผลิตเครื่องดื่มประเภทสุราขาวกลับมาลดลง ส่วนหนึ่งจากฐานสูงปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลผลิตที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้
ปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจภาคเหนือยังมาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยเครื่องชี้สำคัญทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรมและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าร่วมการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้ยอดขายสินค้าจำเป็นขยายตัว
ด้านอุปสงค์สำคัญยังอ่อนแอ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 3.1 เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจยังไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซาและมีอุปทานสะสมเหลืออยู่ ประกอบกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็มีกำลังการผลิตเหลือค่อนข้างมาก เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ยังมีการก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัย โรงแรมและห้างสรรพสินค้าของโครงการเดิมให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เครื่องชี้สำคัญบางประเภทกลับมาขยายตัว ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและยอดขายวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน แม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยการขยายตัวจำกัดเฉพาะการบริโภคสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการและการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ สนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในสินค้าคงทนยังซบเซา เนื่องจากรายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า ทำให้ครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับสถาบันการเงินมีแนวโน้มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 8.5 ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจีนและญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับการส่งออกผ่านด่านชายแดนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 จากที่ได้เร่งส่งออกในเดือนก่อน ตามการส่งออกไปเมียนมาและจีนตอนใต้ ที่ปรับลดลงในสินค้าประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์และน้ำมันเชื้อเพลิง ด้านมูลค่าการนำเข้า ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตและส่งออก
ขณะที่ภาครัฐกลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 จากความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และจะโอนไปเบิกจ่ายในปีงบประมาณหน้าต่อไป
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.85 ซึ่งยังเป็นผลเช่นเดียวกับเดือนก่อน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและราคาก๊าซหุงต้ม แม้ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 โดยแรงงานในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เคลื่อนย้ายไปทำงานในภาคบริการและการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวโดยเฉพาะธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตที่ชะลอลง โดยลดจำนวนวันทำงานของลูกจ้าง แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
ภาคการเงิน เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 มียอดคงค้าง 611,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 7.2 ตามความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังชะลอการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนใหม่โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้านเงินฝาก มียอดคงค้าง 605,210 ล้านบาท ชะลอลงเหลือร้อยละ 3.1 จากการถอนเงินฝากประจำที่ครบกำหนดและไม่ได้ฝากต่อเนื่อง โดยบางส่วนนำไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 101.0 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 5393 1164
e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย