ฉบับที่ 15/2558
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน 2558 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ในเดือนนี้ การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็นและสินค้าคงทนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเกษตรและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ในด้านการผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มลดลงตามภาวะการส่งออก สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั่วไปของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงตามราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานลดลงเล็กน้อย เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งรอทำงานเมื่อถึงฤดูกาลการผลิตภาคเกษตร ทั้งนี้ ยังเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการบางส่วน ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนสิงหาคมขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในหมวดหลัก ได้แก่ หมวดสินค้าจำเป็นของนักท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมถึงการก่อสร้างภาครัฐ การใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการใช้จ่ายในสินค้าคงทนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์กลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคครัวเรือนโดยรวมยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากแนวโน้มรายได้เกษตรกรยังซบเซาและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น
ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยยังมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าร่วมการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญที่ขยายตัวดีทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรมและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร
ในส่วนภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 จากการก่อสร้างต่อเนื่อง ได้แก่ การก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษา อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสาธารณสุขจังหวัด ขณะที่มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลอยู่ในระยะเริ่มต้น
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังหดตัวร้อยละ 3.5 ที่สำคัญเป็นผลจากการซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทยังไม่ผลิตเต็มศักยภาพ มีส่วนให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุนใหม่ โดยยังรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลของมาตรการภาครัฐ เครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลง ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้างและการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
รายได้เกษตรกรยังลดลงต่อเนื่อง ผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 9.1 โดยผลผลิตต่อไร่ของพืชสำคัญลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดและลำไย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ แต่ผลผลิตปศุสัตว์ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 2.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม แม้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7 ตามการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ที่ความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลงและสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งขัน เนื่องจากไม่สามารถปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ การสีข้าวและการแปรรูปผักและผลไม้ลดลงตามวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทเบียร์และน้ำอัดลมยังขยายตัว ด้วยปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และมีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่กระตุ้นตลาด
ขณะที่มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 5.5 ที่สำคัญเป็นการลดลงในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว และเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่ง ขณะที่การส่งออกผ่านด่านชายแดนลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาดลาวและจีนตอนใต้ จากการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงทั้งปริมาณและราคาน้ำมัน ด้านมูลค่าการนำเข้า ลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 10.3 ตามการลดลงการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตและส่งออกเช่นเดียวกับเดือนก่อน
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนเหลือร้อยละ 1.73 เนื่องจากราคาอาหารสดประเภทเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่และผลไม้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและราคาก๊าซหุงต้มยังโน้มต่ำลง ด้านอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 การจ้างงานลดลงเล็กน้อย เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งรอทำงานเมื่อถึงฤดูกาลการผลิตภาคเกษตร และยังเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเข้าไปสู่ภาคค้าปลีก ค้าส่งและบริการ
ภาคการเงิน เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 มียอดคงค้าง 614,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ตามความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ค้าวัสดุและรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐ ด้านเงินฝาก มียอดคงค้าง 604,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากเงินฝากออมทรัพย์เป็นสำคัญ ขณะที่เงินฝากประจำใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างลดลงเล็กน้อย ตามการถอนเงินของส่วนราชการและการถอนเงินฝากที่ครบกำหนดและได้ย้ายไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 101.8
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 5393 1164
e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย