แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2015 15:58 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 12/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกของปี 2558 ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัว เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวทั้งด้านผลผลิตและราคา ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงตามภาคการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงจากการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.1 เป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวทั้งด้านผลผลิตและราคา นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อการฟนตัวทางเศรษฐกิจ ปญหาภัยแล้ง ตลอดจนภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนในหมวดรถยนต์ยังคงลดลง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชะลอลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายในห้างสรรพสินค้าและรายได้ภาคบริการที่ชะลอลง โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 40.8 ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.1 และหดตัวจากไตรมาสก่อน จากผลของทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตลดลงจากข้าวนาปรังเป็นสำคัญ เนื่องจากทางการขอความร่วมมือในการงดปลูกข้าวนาปรังจากปญหาภัยแล้ง สำหรับราคาพืชสำคัญยังคงหดตัวตามทิศทางของราคาตลาดโลก ทั้งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว อ้อยโรงงาน และราคายางพารา อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลังยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนติดลบน้อยลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.8 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากภาคการก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ขยายตัวร้อยละ 18.2 โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แม้ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกว่า 1.2 เท่า แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของหมวดบริการสาธารณูปโภค และหมวดเกษตร-ผลผลิตการเกษตร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนในบางกิจการยังขยายตัวดี เช่น กิจการผลิตแปงมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุนประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท และที่จังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 190 ล้านบาท

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัว จากการเร่งสะสมสต็อกของผู้ค้าส่งในช่วงก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราในไตรมาสก่อน รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลยังขยายตัวดี เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ณ เดือนมิถุนายน 2558 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (ที่ระดับ 80.6)

สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐ ยังคงเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาคอีสานต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปญหาภัยแล้ง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มฐานเงินเดือนข้าราชการที่เริ่มทยอยจ่ายในเดือนมิถุนายน ในส่วนของการใช้จ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 และยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะด้านการคมนาคมจากโครงการซ่อมบำรุงถนนของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง ด้านชลประทานจากโครงการฝายและขุดลอกคลองส่งน้ำ

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนตามเงินฝากกระแสรายวันของส่วนราชการ ส่วนสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยยอดสินเชื่อคงค้างภาคธุรกิจขยายตัวเล็กน้อย จากธุรกิจ ค้าปลีก-ค้าส่ง ขณะที่สินเชื่อคงค้างภาคครัวเรือนชะลอลงเล็กน้อย โดยเฉพาะสินเชื่อคงค้างในกลุ่มการเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.45 และติดลบเพิ่มขึ้น จากผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.80 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปและก๊าซหุงต้ม ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ