แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 30, 2015 16:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 19/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2558 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายสินค้าจำเป็น รวมทั้งยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางรุ่นในช่วงต้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรยังคงหดตัวจากทั้งผลของราคาและผลผลิต แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ชะลอลง ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนตุลาคม 2558 ขยายตัวจากเดือนกันยายน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 และขยายตัวจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายสินค้าจำเป็น สะท้อนจากยอดขายหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น และยอดขายในห้างสรรพสินค้าที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผนวกกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเพียงปจจัยชั่วคราวจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางรุ่นในเดือนมกราคม ปี 2559 รวมทั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่มีการส่งเสริมการขายมากขึ้น สอดคล้องกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากติดลบมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรยังคงหดตัว ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดต่อการฟนตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านรายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงชะลอลง ตามรายได้หมวดโรงแรมและที่พักที่ลดลง ขณะที่หมวดภัตตาคารและร้านอาหารชะลอลง โดยมีอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 42.1 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

สำหรับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 40.5 และเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างในงบกลางขยายตัว โดยเฉพาะรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7 และลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัวร้อยละ 16.4 ตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยรวมทั้งปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลง ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้น ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการลดลงจากเม็ดเงินลงทุนทั้งในโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนกว่า 2.6 เท่าตัว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่บางแห่งที่สนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ กิจการเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เงินลงทุน 2,201 ล้านบาท และกิจการผลิตไก่รุ่นและไข่ไก่ เงินลงทุน 1,288 ล้านบาท

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากผลของทั้งราคาและผลผลิตพืชผลสำคัญที่หดตัว โดยราคามันสำปะหลังหดตัว เนื่องจากจีนชะลอคำสั่งซื้อ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและราคายางพาราหดตัวมากขึ้น ตามเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวและราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามความต้องการของตลาดในประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน สำหรับผลผลิตพืชสำคัญหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามการลดลงของผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ จากปญหาภัยแล้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับดีขึ้น ตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่คาดว่าการบริโภคจะดีขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลหดตัวน้อยลง ตามการผลิตน้ำตาลทรายขาว ทั้งนี้โรงงานน้ำตาลในภาคเริ่มทยอยเปิดหีบใหม่ปี 2558/59 ในช่วงปลายเดือนนี้ (ปีก่อนเปิดหีบวันที่ 1 ธันวาคม 2557) สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวตามความต้องการจากต่างประเทศที่ยังคงลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 77.4 ลดลงจากระดับ 83.0 ในเดือนตุลาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไป ติดลบร้อยละ 0.86 และติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ชะลอลง ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวน้อยลง ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.11 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคนอกบ้านเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างขยายตัวจากเดือนกันยายน ตามเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างชะลอลงจากเดือนก่อน ตามเงินให้กู้ยืม และเงินเบิกเกินบัญชี เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ