แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 30, 2015 13:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2558 การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน มีการบริโภคสินค้าจำเป็นซึ่งได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ส่วนภาคเหนือตอนล่างบางจังหวัดยังซบเซาเพราะผลกระทบจากการหดตัวในภาคเกษตร นอกจากนี้ ในเดือนนี้ การค้าชายแดนและมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกคงลดลงต่อเนื่องตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังฟื้นตัวช้า และยังไม่เห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงงานบางส่วนได้เคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ด้านอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนตุลาคมขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่ยอดคงค้างสินเชื่อรวมลดลงจากเดือนก่อนมาก ส่วนสำคัญมาจากการชำระหนี้คืนของภาคธุรกิจการเงิน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้

ปัจจัยขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน การใช้จ่ายสินค้าคงทนขยายตัวทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวจากการแข่งขันส่งเสริมการขายและผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางรุ่นในต้นปีหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภค สินค้าหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้การใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทปรับตัวดีขึ้น อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องประดับและเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือตอนบน สอดคล้องกับภาวะท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายทั้งสินค้าคงทนและสินค้าทั่วไปในบางจังหวัดของภาคเหนือตอนล่างยังซบเซา เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวน้อยกว่าและได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของภาคเกษตรมากกว่า

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่องตามช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งอัตราเข้าพักของโรงแรม ราคาห้องพักเฉลี่ย และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร และจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเป็นสำคัญ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงและเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้นทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปและเกาหลี รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมของภาครัฐและเอกชน

การส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาและ สปป.ลาวขยายตัวดี แต่การส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง การนำเข้า กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทผลไม้รองรับหน้าเทศกาล

การเบิกจ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนที่มาชดเชยการโอนเงินอุดหนุนให้กับสถาบันการศึกษาและท้องถิ่นที่ลดลง และเห็นสัญญาณที่ดีจากการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินสิ่งปลูกสร้างกลับมาขยายตัวดี ส่วนหนึ่งจากการทยอยเบิกจ่ายตามโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและการลงทุนขนาดเล็ก

ปัจจัยทางเศรษฐกิจส่วนที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว ได้แก่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.5 ส่วนสำคัญมาจากการซบเซาในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทยังมีกำลังการผลิตเพียงพอรองรับความต้องการสินค้าทั้งในและต่างประเทศที่มีไม่มากนัก เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและยอดขายวัสดุก่อสร้าง

รายได้เกษตรกร ลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ปัจจัยสำคัญเพราะยังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติและตกล่าช้า ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตสินค้าเกษตร ต่อไร่ลดลง มากที่ร้อยละ 20.5 ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสับปะรด ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ อาทิ สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ มีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ก็ออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการจึงทำให้ราคาปศุสัตว์ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวลดลง อย่างไรก็ดี ราคาสับปะรดที่เพิ่มขึ้นมาก จึงช่วยดึงให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 ผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีผลลผลิตอุตสาหกรรมแม้ปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน แต่ยังลดลงร้อยละ 11.2 ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่ลดลงเกือบทุกประเภทสินค้า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เซรามิก เลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าชะลอลง การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน และลูกค้าบางรายมีสต็อกสินค้าเหลืออยู่เพราะถูกเลื่อนการส่งมอบสินค้าออกไป นอกจากนี้ ผลผลิตผักและผลไม้แปรรูปยังลดลงในกลุ่มสินค้าผักสดแช่แข็ง เช่นเดียวกับการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศลดลง ตามการสีข้าวที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ เพื่อรองรับเทศกาลช่วงสิ้นปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนเป็นร้อยละ 1.6 ประการสำคัญมาจากราคาอาหารสดทั้งผักและผลไม้ปรับลดลง เพราะแรงกดดันด้านราคาช่วงเทศกาลกินเจได้หมดไป รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นมปรับลดลง ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำและทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.8 โดยแรงงานภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างบางส่วนได้ทยอยเคลื่อนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดเงินฝากคงค้าง มียอดคงค้าง 617,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ส่วนสำคัญมาจากการโอนเงินอุดหนุนของภาครัฐให้กับสถาบันการศึกษา ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 611,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 แม้ชะลอลงบ้างจากการชำระหนี้คืนบางส่วนของภาคธุรกิจการเงินและขนส่ง แต่ยังมีส่วนที่ดีอยู่ ได้แก่ สินเชื่อในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 99.0 เนื่องจากยอดคงค้างของเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0-5393-1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ