ฉบับที่ 18/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2558 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ลดลง จากผลของฐานที่สูงเนื่องจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงหดตัว เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลง ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนกันยายน 2558 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนสิงหาคม ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างชะลอลงเล็กน้อย
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 30.1 และลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากฐานที่สูงเนื่องจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเบิกจ่ายลดลงในหมวดครุภัณฑ์ และหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวง เป็นสำคัญอย่างไรก็ดี มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาในภาคมากขึ้นจากปีก่อน
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.5 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ประกอบกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ชะลอลง ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังคงหดตัว สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลงในหมวดบริการและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนบางรายที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะหมวดเกษตรและผลิตผลการเกษตรในกิจการผลิตยางแท่งและยางผสม ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในเดือนนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว จากโรงงานขนาดใหญ่ คือโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและน้ำตาลทรายขาว เงินลงทุน 8,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.5 ของเงินลงทุนทั้งหมด
สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 0.4 และทรงตัวจากเดือนก่อนซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับรายได้เกษตรกรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอลง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะหมวดยานยนต์หดตัวน้อยลง ส่วนการบริโภคสินค้าจำเป็นยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 40.5 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 40.1 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.4 ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 และลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากผลผลิตพืชผลที่ยังหดตัว แม้ว่าราคาพืชผลจะปรับดีขึ้นบ้าง โดยราคาข้าวเปลือกเหนียวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตฤดูการผลิตใหม่ออกสู่ตลาดยังไม่มาก ราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อน เพราะคุณภาพมันสำปะหลังไม่ดีนักจากปญหาภัยแล้งประกอบกับเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ราคายางพาราและข้าวเปลือกหอมมะลิยังคงหดตัวตามราคาตลาดโลก สำหรับผลผลิตพืชผลสำคัญหดตัวตามผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปญหาภัยแล้งและเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงงานบางแห่งมีการปรับปรุงสายการผลิตบางสาย รวมทั้งการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่หดตัว จากการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับเข้าใกล้ฤดูการผลิตอ้อยปี 2558/2559 ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวตามความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 83.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 75.5 ในเดือนกันยายน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบร้อยละ 0.76 แต่ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ได้แก่ ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลง ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.14 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคม จากเงินฝากออมทรัพย์เป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย