ฉบับที่ 16/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2558 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามการบริโภคสินค้าจำเป็น สอดคล้องกับยอดขายภาคการค้าและรายได้ภาคบริการที่ขยายตัว ขณะที่รายได้เกษตรกรทรงตัวจากผลของราคาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐชะลอลงเล็กน้อย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง สำหรับอัตราเงินเฟอติดลบน้อยลงจากราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลง ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนสิงหาคม 2558 ชะลอลงเล็กน้อย ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัว
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการบริโภคสินค้าจำเป็น สะท้อนจากยอดขายอาหารและเครื่องดื่ม ยอดขายในห้างสรรพสินค้า และภาษีมูลค่าเพิ่มยังขยายตัวดี สอดคล้องกับภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวจากเดือนก่อน ตามหมวดที่พัก (โรงแรมและรีสอร์ท ลานตั้งค่ายพักแรม และที่พักประเภทอื่นๆ) โรงอาหาร รวมถึงภัตตาคารและร้านอาหาร ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 40.1 ขณะที่กำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรทรงตัวจากผลของราคาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นบ้างอยู่ที่ระดับ 40.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 36.0 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 แต่ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคามันสำปะหลังชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเพราะคุณภาพของหัวมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว และยางพารายังคงหดตัวต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก แม้ว่าจะหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน สำหรับผลผลิตพืชหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ ทรงตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน และกรมทางหลวง และการเบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลดลงจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้าขณะที่การเบิกจ่ายในหมวดครุภัณฑ์ขยายตัว ตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 และลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวต่อเนื่องจากการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และการก่อสร้างเพื่อการบริการ อาทิ ศูนย์บริการรถโดยสารปรับอากาศและโรงแรม เป็นต้น ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอลง ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์หดตัวต่อเนื่อง ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการลดลง ตามการลดลงของเม็ดเงินลงทุนจากทั้งกิจการในโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้มีโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟา เงินลงทุน 600 ล้านบาท และโรงงานผลิตแปงมันสำปะหลัง เงินลงทุน 593 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.7 ของเงินลงทุนทั้งหมด สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากกิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืชและไซโล ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีเงินลงทุน 2,093 ล้านบาท
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัวลง เนื่องจากโรงงานมีการปรับปรุงสายการผลิตบางสาย ประกอบกับสต็อกสินค้ายังคงมีอยู่มาก ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลชะลอลง สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ปรับตัวดีขึ้นบ้างจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 75.5 ลดลงต่อเนื่องจากระดับ 78.4 ในเดือนสิงหาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบร้อยละ 1.32 แต่ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ได้แก่ ผักสด เป็ด ไก่ และอาหารสำเร็จรูปโดยเฉพาะอาหารบริโภคในบ้านที่มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลง ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.89 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้างชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม ตามเงินฝากประจำของประชาชน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามความต้องการใช้สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นที่เพิ่มมากขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย