แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 31, 2015 16:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว โดยรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐชะลอลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนมิถุนายนชะลอลงเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อคงค้างทรงตัวจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 36.9 (ลดลงจากระดับ 41.9 ในเดือนก่อน)เนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าในครัวเรือน และยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชะลอลง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวมากขึ้น สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถทุกประเภทที่ลดลง ด้านการบริการ รายได้ภาคบริการขยายตัวจากเดือนก่อน จากสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 45.5

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 และหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนจากราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 21.7 เนื่องจากประเทศจีนยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชะลอลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ราคายางพาราและราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ รวมทั้งมีการแข่งขันที่มากขึ้นในตลาดโลก สำหรับ ด้านผลผลิตพืชหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ เนื่องจากประสบปญหาภัยแล้ง

การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.2 ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม แม้ว่างบลงทุนโดยรวมจะชะลอตัว แต่การเบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเบิกจ่ายเพื่อพัฒนาการศึกษา เช่น การก่อสร้างอาคารเรียนอาคารเอนกประสงค์ การเบิกจ่ายเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน เช่น โครงการก่อสร้างลานกีฬา-สนามฟุตซอล และการเบิกจ่ายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้าง-ซ่อมแซมถนนคอนกรีต เป็นต้น

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่าย วัสดุก่อสร้างที่ยังคงขยายตัว กอปรกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 ตามเม็ดเงินลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ ได้แก่ กิจการซ่อมเคาะพ่นสีรถยนต์ กิจการผลิตปุยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพจากขยะมูลฝอยชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 86.3 ตามการหดตัวในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม ยกเว้นหมวดเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติกที่ยังขยายตัวในกิจการผลิตเยื่อกระดาษที่จังหวัดมหาสารคาม ด้วยเงินลงทุน 5,500 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.1 ของเงินลงทุนทั้งหมด

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.4 และขยายตัวจากเดือนก่อนตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาล เนื่องจากโรงงานมีการละลายน้ำตาลดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้น ตามคำสั่งซื้อที่มีมากในเดือนนี้ รวมทั้งการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติหลังจากที่มีการใช้สต็อกที่สะสมมาก่อนการปรับอัตราภาษีสุราได้ลดลง และมีบางสายการผลิตปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 79.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 80.6 ในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบร้อยละ 1.40 และติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.79 สูงขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เงินฝากคงค้างธนาคารพาณิชย์ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคมตามเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการที่มีการทยอยเบิกใช้งบประมาณมากขึ้น ด้านสินเชื่อคงค้างธนาคารพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยยอดสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเล็กน้อยจากธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอลงเล็กน้อยจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ