ฉบับที่ 11/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน 2558 ทรงตัว ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัวจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลง ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากภาคการก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐยังเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอาหารสดที่สูงขึ้น ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนพฤษภาคม เงินฝากขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่เงินให้สินเชื่อชะลอลงเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคทรงตัว ตามรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลง จากผลด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ครัวเรือนมีการระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอลง สอดคล้องกับยอดจำหน่าย ในห้างสรรพสินค้าที่ชะลอลง ด้านการบริการ รายได้ภาคบริการลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 และหดตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักโรงแรมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.8 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนจากผลด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคามันสำปะหลังขยายตัวเนื่องจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเวียดนามและกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งมีผลผลิตลดลง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้จะชะลอลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กอปรกับราคายางพาราหดตัวน้อยลงตามปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับด้านผลผลิตหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ เนื่องจากภาครัฐขอความร่วมมือในการงดปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้งประสบปญหาภัยแล้ง
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 จากการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัว สำหรับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุญาตให้เปิดดำเนินการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวจากหมวดเกษตรและผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอลงของการผลิตน้ำตาลและโมลาสหลังจากที่โรงงานปิดหีบอ้อย ในเดือนที่ผ่านมา ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังคงลดลงต่อเนื่องตามสต็อกสินค้าที่ยังอยู่ระดับสูง ประกอบกับมีบางสายการผลิตปิดซ่อมบำรุง และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ลดลง
การใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.0 และขยายตัวจากเดือนก่อนจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ และรายจ่ายของกรมชลประทานในการซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ และการขุดลอกคลอง เป็นสำคัญ
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนเมษายนตามเงินฝากประจำและกระแสรายวัน ด้านสินเชื่อคงค้างชะลอลงเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟนตัวช้าทำให้นักธุรกิจชะลอการลงทุน กอปรกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น ด้านสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 125.9
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.41 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนตามราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.69 ชะลอลงจากเดือนก่อนจากราคาก๊าซหุงต้ม สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย