ฉบับที่ 10/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2558 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ และรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัวจากราคาพืชผลเป็นสำคัญ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจถึงแม้จะชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ และรายได้เกษตรกรยังคงหดตัวจากผลของราคาพืชผลเป็นสำคัญ ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชะลอตัว และการบริโภคสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ที่ยังคงหดตัว ขณะที่การบริโภคสินค้าจำเป็นและการค้าในห้างสรรพสินค้าปรับตัวดีขึ้นบ้าง ด้านการบริการ รายได้ภาคบริการชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 43.1
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 และหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.6 ทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการพาณิชย์ และเพื่อการบริการ รวมทั้งเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่และเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลง
ด้านการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.9 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า โดยชะลอลงในหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเป็นสำคัญ
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการลดลงของราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยราคาอ้อยโรงงาน ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวยังคงหดตัวต่อเนื่องตามทิศทางของราคาในตลาดโลก ส่วนราคามันสำปะหลังหดตัวตามตลาดของประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว ขณะที่ราคายางพาราหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนบ้าง สำหรับผลผลิตพืชสำคัญชะลอลงจากเดือนก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.7 จากที่ลดลงเล็กน้อยในเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตน้ำตาลทรายขาวที่ขยายตัว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังคงลดลงจากผลของการเร่งสะสมสต็อกของผู้ค้าส่งในช่วงก่อนหน้า ด้านการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ลดลงต่อเนื่องตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมตามเงินฝากกระแสรายวันของส่วนราชการ และเงินฝากประจำ เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.2 และขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากสินเชื่อที่ให้แก่บางภาคธุรกิจเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ฟนตัวได้ค่อนข้างช้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 5.5 แต่ชะลอลงจากเดือนมีนาคมตามเงินฝากของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.3 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ
เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.65 และหดตัวต่อเนื่อง จากผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ การควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ และการปรับลดค่าไฟฟา (Ft) ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูป และการปรับลดค่าไฟฟา (Ft) เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย