ฉบับที่ 09/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2558 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่าย งบลงทุนของภาครัฐที่ชะลอลงจากการเร่งเบิกจ่ายไปมากในเดือนก่อน ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และรายได้ของเกษตรกรที่ยังคงหดตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังคงเป็นปจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.1 แต่ขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นสูงมากในเดือนก่อนอย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้มีการโอนรายจ่ายงบกลางในหมวดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินตามโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาครัฐโดยรวมขยายตัวจากเดือนก่อน
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยังคงทรงตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.1 จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้ของเกษตรกร ที่ยังคงหดตัวจากราคาพืชผลเกษตร ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากการจับจ่ายใช้สอยในภาคการค้า และภาคบริการ โดยการค้าปลีกสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ยังคงลดลงต่อเนื่อง และการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับการชะลอตัวของยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคบริการ รายได้ชะลอลงจากเดือนก่อนตามอัตราการเข้าพักโรงแรมที่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 แต่หดตัวน้อยลงจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ตามการก่อสร้างห้างขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่การจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคล และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหดตัว อย่างไรก็ดี เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด
สำหรับการผลิตภาคเกษตรกรรม โดยดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากผลของราคาพืชผลหลักเป็นสำคัญ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ราคาอ้อยโรงงาน และราคายางพาราหดตัวตามทิศทางของราคาในตลาดโลก สำหรับราคามันสำปะหลังหดตัวเล็กน้อยเนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น แม้ว่าความต้องการของประเทศคู่ค้ายังมีต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตพืชสำคัญยังคงหดตัวเล็กน้อยตามผลผลิตอ้อยโรงงานและข้าวนาปรัง ส่วนหนึ่งเนื่องจากประสบภัยแล้ง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย โดยการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลงจากผลของการเร่งสะสมสต็อกของผู้ค้าส่งในช่วงก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราในเดือนมีนาคม 2558 การผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ลดลงค่อนข้างมากตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำตาลทรายขาวยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามสินเชื่อที่ให้แก่บางภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทค้าส่งค้าปลีกและการผลิต อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ตามเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสิน ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามสินเชื่อโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ
เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.28 และหดตัวต่อเนื่อง จากผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกและการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.97 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย