ฉบับที่ 07/2558
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่ขยายตัวสูง จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัวแม้ว่ารายได้ของเกษตรกรหดตัวน้อยลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันในตลาดโลกและการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากรายจ่ายงบลงทุน ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 93.6 และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากมาตรการเร่งรัด การเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทาน
อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 ยังคงทรงตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย แม้ว่ารายได้ของเกษตรกรหดตัวน้อยลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าจำเป็นปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายในห้างสรรพสินค้าที่ขยายตัว สำหรับรายได้ภาคบริการยังคงชะลอลง และมีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.5 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 50.5
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 และหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และบริการยังขยายตัว สำหรับแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปมีทิศทางดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงงานผลิตพลังงานไฟฟาจากพลังงานลม รวมทั้งเงินลงทุน ที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว
ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนตามราคาพืชสำคัญ โดยราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่อง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ราคาอ้อยโรงงานหดตัวน้อยลง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลเร่งรับซื้อผลผลิตก่อนฤดูกาลปิดหีบ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ ขณะที่ราคายางพารายังคงหดตัวตามราคาของตลาดโลก แม้จะมีปจจัยบวกจากผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลง และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญยังคงหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังและผลผลิตอ้อยโรงงาน ส่วนหนึ่งเนื่องจากประสบปญหาภัยแล้ง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากที่เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า และการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ที่ชะลอลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากปริมาณอ้อยที่เข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 แต่ชะลอลงจากเดือนมกราคมตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.5 และขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงชะลอตัว สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.1 และขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนมกราคมตามเงินฝากของธนาคารออมสิน ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสิน เป็นสำคัญ
เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟอทั่วไปหดตัวร้อยละ 0.85 โดยหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.07 ชะลอลงจากเดือนก่อนจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย