แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 31, 2015 15:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 06/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการก่อสร้าง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้างตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว ทำให้ภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สำหรับอัตราเงินเฟอหดตัวจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ ในเดือนนี้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 25.9 จากรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ ขณะที่รายจ่ายงบประจำยังคงหดตัว เนื่องจากข้อจำกัดในการบันทึกรายงานการโอนเงินเดือนจากส่วนกลางไปยังบัญชีเงินเดือนบุคลากรโดยตรงในระดับภูมิภาค

การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้าง สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างห้างค้าส่งขนาดใหญ่ สำหรับแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการเพิ่มขึ้นจากโรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัดชัยภูมิเป็นสำคัญ รวมทั้งเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 22 เท่าตัว โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟาจากพลังงานลมในจังหวัดชัยภูมิ

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวเท่ากับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว ทำให้ภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การค้าปลีกสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และยอดขายในห้างสรรพสินค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ที่ยังคงหดตัว สอดคล้องกับรายได้ภาคบริการที่ชะลอลง และมีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 44.5 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.9

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตพืชสำคัญหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ตามผลผลิตอ้อยโรงงานเป็นสำคัญ เนื่องจากประสบปญหาภัยแล้ง ขณะที่ราคาพืชหลักแม้จะยังคงหดตัว แต่เห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว และยางพาราที่หดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ตามผลผลิตในตลาดลดลงเนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งอยู่ในโครงการภาครัฐ ส่วนราคาอ้อยโรงงานหดตัวตามค่าความหวานที่ต่ำกว่าปีก่อน สำหรับราคามันสำปะหลังหดตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการรับซื้อ และหันไปซื้อจากประเทศส่งออกรายอื่นที่มีราคาต่ำกว่า ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ตามผลผลิตในตลาดลดลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 และเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุรา รวมทั้งการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมากขึ้น และการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดนำเข้าหลัก

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างขยายตัวจากเดือนธันวาคมตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างชะลอลงจากเดือนธันวาคมตามเงินฝากส่วนราชการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟอทั่วไป หดตัวร้อยละ 0.74 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากผลของการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูปชะลอลงจากมาตรการดูแลค่าครองชีพและราคาสินค้าของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.34 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ