ฉบับที่ 03/2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2558 ขยายตัวจากปีก่อน โดยแรงสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็น ประกอบกับการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางรุ่นในเดือนมกราคม 2559 ด้านรายได้ภาคบริการยังขยายตัวดี ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ประกอบกับกำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรที่ยังลดลง ซึ่งอาจทำให้การบริโภคของประชาชนเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง ยังมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งแรกของปี ผนวกกับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง ตามการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ที่ขยายตัว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่การก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟอติดลบที่ร้อยละ 1.11 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง แต่เริ่มติดลบน้อยลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.6 และปรับดีขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ ตามการใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดขายในห้างสรรพสินค้าที่ขยายตัวดี ประกอบกับมีการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในบางรุ่นในเดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้จะปรับดีขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ประกอบกับกำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรที่ยังลดลง ซึ่งอาจทำให้การบริโภคของประชาชนเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 6.8 ตามหมวดภัตตาคารและร้านอาหารที่ขยายตัว ส่วนโรงแรมและรีสอร์ทชะลอตัว โดยอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 42.7 ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 46.5 ส่วนหนึ่งเนื่องจากลูกค้าบางส่วนเลือกใช้บริการห้องพักจาก อพาร์ตเม้นต์ หอพักรายวันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาค โดยมีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 80,930.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.1 จากปีก่อน ตามการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะรายจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท และกรมทรัพยากรน้ำ ผนวกกับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการลงทุนขนาดเล็ก (ไม่เกิน 1 ล้านบาท) จำนวน 6,136.6 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่าย งบลงทุนนอกงบประมาณในส่วนของเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนในช่วงครึ่งหลังของปีจำนวน 13,555.7 ล้านบาท
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากปีก่อนร้อยละ 3.0 ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัวร้อยละ 3.5 ตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารสูงที่ลดลง แต่การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ยังขยายตัว โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ส่งผลให้ภาคการก่อสร้างโดยรวมหดตัวน้อยลง เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่ปรับดีขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวสอดคล้องกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
ด้านเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการลดลงทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งนี้ มีโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในปีนี้ อาทิ โรงงานผลิตน้ำตาล จำนวน 2 แห่ง เงินลงทุนรวม 11,867.0 ล้านบาท สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลงจากหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟา และหมวดบริการและสาธารณูปโภค ขณะที่หมวดเกษตรและผลิตผลการเกษตรขยายตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนยังรอดูทิศทางการฟนตัวทางเศรษฐกิจและความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.6 ทั้งราคาพืชผลและผลผลิตพืชผลสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.2 ตามราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่ลดลงจากการแข่งขันที่สูงในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านราคาอ้อยโรงงานลดลงใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำตาลโลก ที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดจีนและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศที่ขยายตัว แม้ว่าจะแผ่วลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี ตามคำสั่งซื้อจากจีน ที่ชะลอลง สำหรับผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.4 จากผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการงดปลูกข้าวนาปรังตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือไว้ และผลผลิตบางส่วนประสบปญหาภัยแล้ง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.0 ตามการผลิต ในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน ประกอบกับการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง จากการเร่งสะสมสต็อกของผู้ค้าส่งในช่วงก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราในไตรมาสแรกของปี ส่วนการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวมากขึ้นตามความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ลดลงจากการเปลี่ยนรสนิยมของผู้บริโภคที่หันไปใช้สินค้าไฮเทคมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยปีนี้สูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไป ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 1.11 (ขณะที่ปีก่อนอัตราเฟออยู่ที่ร้อยละ 2.26) ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงมาก แต่เริ่มติดลบน้อยลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.01 ชะลอลงจากปีก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ใกล้เคียงกับปีก่อน ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.7 แต่ชะลอลงจากปีก่อน จากเงินฝากประจำและเงินฝากกระแสรายวัน ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่ยังบริหารต้นทุนทางการเงินด้วยการควบคุมปริมาณเงินฝากให้เติบโตช้ากว่าสินเชื่อ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.3 แต่ชะลอลงจากปีก่อน ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย