ฉบับที่ 3/2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2558 โดยรวมขยายตัวจากปีก่อน จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและ การลงทุนภาครัฐ ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้น ตามยอดขายในหมวดห้างสรรพสินค้า ยอดขายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ สนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรทั้งยางและ ปาล์มน้ำมัน ที่ลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และราคากุ้งขาวได้รับแรงกดดันจากผลผลิตของคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นและมีราคาต่ำกว่า นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกหดตัวทั้งจากอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอลงและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบตามราคาน้ำมัน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้ การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยขยายตัวในอัตราเร่งถึงร้อยละ 23.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย รวมทั้งความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซียและจีนสะท้อนจากอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางการบินใหม่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมาเลเซียที่ชะลอลงและปัจจัยชั่วคราวจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวชะลอลงบ้างในช่วงปลายปี
การใช้จ่ายภาครัฐเป็นอีกแรงสนับสนุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ขยายตัวสูง ตามการเบิกจ่ายงบพัฒนาถนนและแหล่งน้ำ และงบส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับฐานรากและกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก อาทิ กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท งบลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐขยายตัวจากปีก่อน ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะ
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น แม้จะได้รับปัจจัยลบจากรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างภาครัฐ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภค ประกอบกับห้างสรรพสินค้ามีการเพิ่มกลยุทธ์ส่งเสริมการขายมากขึ้นกว่าปีก่อนและต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งซื้อรถยนต์ในไตรมาส 4 ก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2559
รายได้เกษตรกรยังคงลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเผชิญกับแรงฉุดด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทั้งยาง ปาล์มน้ำมันและกุ้งขาว ถึงแม้ผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันจะลดลงจากปีก่อนก็ไม่สามารถดันราคาให้สูงขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีนผู้ใช้ยางรายใหญ่ ประกอบกับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้สต็อกยางและปาล์มอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาครัฐใช้มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งโครงการชดเชยรายได้ การเข้าซื้อยางตามมูลภัณฑ์กันชน และกระตุ้นความต้องการใช้ยางภายในประเทศ รวมทั้งมาตรการกำหนดราคารับซื้อปาล์มและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ขณะที่กุ้งขาวมีปัจจัยลบจากผลผลิตเพิ่มขึ้นหลังโรคระบาดคลี่คลายลงและมีการแข่งขันสูงด้านราคากับประเทศคู่แข่งที่มีผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเกือบทุกการผลิต ยกเว้นการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามอัตราการให้น้ำมันที่ดีขึ้น และการผลิตไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดจีนเพื่อใช้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับราคาไม้ยางอยู่ในระดับต่ำจูงใจให้มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตได้รับปัจจัยรุมเร้าต่าง ๆ ทั้งจากอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอลง การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และการขาดแคลนวัตถุดิบปลาและหมึกจากปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ทำให้เรือประมงออกจับสัตว์น้ำได้น้อยลง ส่งผลให้การผลิตลดลงทั้งยางแปรรูป ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง สอดคล้องกับภาพรวมการส่งออกที่ลดลงทั้งจากผลด้านปริมาณและราคา
การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่อง ทั้งการขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรและการส่งออกที่ยังอ่อนแอ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จึงลงทุนเพียงเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.0 ในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.25 ตามราคาพลังงานที่ลดลง ทำให้มีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงในบ้าน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนสินค้า ส่งผลให้ราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย
ณ สิ้นปี 2558 เงินให้สินเชื่อคงค้างลดลงร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งปรับเปลี่ยนการบันทึกบัญชีไปยังสำนักงานใหญ่ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและบริโภคส่วนบุคคลชะลอลง ส่วนสินเชื่อธุรกิจขยายตัวตามสินเชื่อการผลิต การก่อสร้าง การขายส่งขายปลีก และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4716 E-mail : Arunyas@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย