แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 31, 2016 17:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 4/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ยังทรงตัว โดยจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ดี ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญยังอ่อนแอกว่า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของภาคเหนือโดยรวม ยังเป็นภาคการท่องเที่ยว การค้าชายแดนและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากความต้องการที่มีต่อเนื่อง และน้ำตาลที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นชั่วคราว สืบเนื่องจากผลผลิตอ้อยที่อาจปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราวเช่นกัน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังหดตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนมกราคมยังขยายตัวได้ในอัตราสม่ำเสมอ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในช่วงเทศกาลตรุษจีนทั้งเที่ยวบินตรง เช่าเหมาลำและคาราวานรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ และมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับเข้ามามากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยยังเดินทางมาประชุมสัมมนาและเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ สะท้อนจากอัตราเข้าพักของโรงแรม จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน ราคาห้องพักเฉลี่ย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน

บทบาทของภาครัฐทำได้ดีต่อเนื่อง โดยการเบิกจ่ายภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ในเดือนนี้มีการเร่งเบิกจ่ายมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมและบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ มีความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนสำหรับก่อสร้างตามโครงการให้กับท้องถิ่น

ด้านการส่งออก กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมาและ สปป.ลาว ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น จีน ฮ่องกงและสิงคโปร์ ยังลดลงสอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรม ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวสูงร้อยละ 70.6 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาว รวมถึงวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นบ้างในเดือนนี้

ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงภายหลังปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งซื้อรถยนต์ได้หมดไป ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลด้านภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าและภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และสินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภคปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาคเอกชนในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้น

สำหรับสาขาการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยชั่วคราว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 จากผลผลิตอ้อยที่เลื่อนมาเก็บเกี่ยวมากในเดือนนี้ ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นจากที่เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างหันมาปลูกทดแทนข้าว รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ยังขยายตัวได้ แม้ว่าผลผลิตข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงจากผลกระทบของภาวะแล้ง ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 แม้ว่าราคาสินค้าเกษตร โดยรวมยังลดลงร้อยละ 6.6 จากราคาอ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลงตามความต้องการและราคาในตลาดโลก และคุณภาพของผลผลิตด้อยลง ทั้งนี้ ราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น

ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตเครื่องดื่มทั้งมีและไม่มีแอลกอฮอล์ และการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตอ้อย อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงทุกประเภทสินค้าโดยเฉพาะแผงวงจรรวม เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ นอกจากนี้ การสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้แช่แข็งยังลดลงจากภาวะแห้งแล้ง สำหรับการผลิตที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ เลนส์กล้องถ่ายภาพ สิ่งทอ เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์

ส่วนภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ได้แก่ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.3 ส่วนสำคัญจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภท เนื่องจากความต้องการสินค้าทั้งในและต่างประเทศยังอ่อนแอ รวมถึงภาคการก่อสร้างและภาวะอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา ขณะที่ผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วยดูดซับอุปทานส่วนเกินได้บางส่วน แต่ยังไม่กระตุ้นให้มีการลงทุนโครงการใหม่ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่รอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐชัดเจนมากขึ้นก่อน ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนยังลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยต่อเนื่องเหลือร้อยละ 0.96 จากราคาหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังหดตัว ด้านอัตราการว่างงาน ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 โดยแรงงานภาคเกษตรบางส่วนปรับตัวด้วยการย้ายไปทำงานในนอกภาคเกษตร

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินฝาก 637,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากเงินฝากของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการทั่วไป ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 584,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ในเดือนนี้มีการชำระหนี้คืนบางส่วนของธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรภายหลังที่ใช้วงเงินไปมากในช่วงไตรมาสก่อนโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ส่วนที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการทยอยเบิกใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 91.7 ปรับลดลงจากเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ