แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 29, 2016 16:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 04/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2559 ชะลอลงจากเดือนก่อนโดยการอุปโภคบริโภคชะลอลงเล็กน้อย ตามการบริโภคสินค้าคงทน ขณะที่การบริโภคสินค้าจำเป็นทรงตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี กำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง สำหรับแรงส่งจากการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐชะลอลงค่อนข้างมากจากการเร่งใช้จ่ายไปมากแล้วในเดือนก่อน ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบน้อยลง ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างและสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนธันวาคม 2558 ชะลอลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.9 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์ที่ชะลอลง จากการเร่งซื้อรถยนต์ไปมากในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ชะลอลง ขณะที่ การบริโภคสินค้าจำเป็นทรงตัว โดยยอดขายปลีกในหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายในห้างสรรพสินค้าชะลอลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทรงตัวในระดับต่ำที่ 41.3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการฟนตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี กำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง ด้านภาคบริการ รายได้สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังลดลงตามหมวดโรงแรมและรีสอร์ท ส่วนหมวดภัตตาคารและร้านอาหารชะลอลง ขณะที่หมวดที่พักแรมประเภทอื่นๆ ยังขยายตัวดี โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.6 สูงขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.0

สำหรับแรงส่งจากการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.1 แต่ชะลอลงไปค่อนข้างมากจากเดือนก่อน ตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า จากงบลงทุนหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างในงบกลางที่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก สำหรับโครงการในมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) มีการเบิกจ่ายจำนวน 642.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เบิกจ่ายเพียง 183.7 ล้านบาท

ด้านการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่ง ทางถนน มีการเบิกจ่ายจำนวน 203.7 ล้านบาท ลดลงมากจากเดือนก่อนที่เบิกจ่ายถึง 3,195.6 ล้านบาท

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 โดยลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัวจากการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ยังขยายตัว ส่วนปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ปรับดีขึ้นเล็กน้อย

สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ (716.0 ล้านบาท) และกิจการคัดคุณภาพข้าว (320.0 ล้านบาท) ด้านเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการลดลงจากเงินลงทุนในโรงงานขนาดใหญ่ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากกิจการซ่อมแซมรถยนต์ และกิจการการผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.7 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน จากผลผลิตพืชสำคัญที่หดตัวน้อยลง ตามผลผลิตอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก การขยายพื้นที่ปลูก และยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่ ขณะที่ผลผลิตพืชสำคัญอื่น ๆ ยังคงหดตัว ด้านราคาพืชผลสำคัญ ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ ส่วนราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ ราคาอ้อยโรงงานหดตัวน้อยลง ตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น สำหรับราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.5 และหดตัวมากขึ้นจากเดือน ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากสต็อกสินค้าของผู้ค้าส่งยังอยู่ในระดับสูง ด้านการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังหดตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น จากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่มากขึ้นจากปีก่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกจากข้าวไปปลูกอ้อยแทน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.7 ลดลงจากระดับ 85.0 ในเดือนธันวาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไป ติดลบร้อยละ 0.31 แต่ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน จากผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอยหมดไป ขณะที่ราคาอาหารสดชะลอลง ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.02 ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าเช่าที่พักอาศัยเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 2.7 แต่ชะลอลงจากเดือนพฤศจิกายนจากเงินฝากทุกประเภท ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการนำเงิน ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อาทิ หลักทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.3 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟนตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กอปรกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ