ฉบับที่ 6/2559
เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และการผลิตเพื่อส่งออกในภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ทำให้มีการ จ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐในงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังทำได้ดี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากรายได้เกษตรกรและมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ตกต่ำ ซึ่งเป็นผลด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าเกษตรส่งออกยังคงลดลงตามราคาน้ำมันและการชะลอตัวเศรษฐกิจจีน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบจากราคาพลังงาน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้
ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีและเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย อาทิ จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและสแกนดิเนเวียเพิ่มขึ้น โดยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวรัสเซียชัดเจนขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจรัสเซีย สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานในภาคใต้และอัตราการเข้าพักที่เพิ่มสูงขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องที่คำสั่งซื้อของคู่ค้าปรับดีขึ้นในช่วงราคาวัตถุดิบทูน่าเริ่มขยับสูงขึ้นหลังจากที่อยู่ในระดับต่ำมาระยะหนึ่ง การผลิตถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดหลัก ประกอบกับมีการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ ถุงมือยาง ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตามปริมาณวัตถุดิบ ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปหดตัว ตามปริมาณวัตถุดิบปลาและปลาหมึกที่ลดลงต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย
การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต ทำให้ มีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนบางส่วน ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้น ทั้งการใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ชะลอตัวหลังจากมีการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงก่อนปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต อย่างไรก็ตามเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวตามการชะลอการลงทุนของผู้ประกอบการ ยกเว้นปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ได้อานิสงส์จากการก่อสร้างในโครงการภาครัฐ
การใช้จ่ายภาครัฐทำได้ดีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการเบิกจ่ายลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และสถาบันการศึกษา ส่วนการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลสามารถเร่งเบิกจ่ายได้มากขึ้น อีกทั้งรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าใช้สอย และค่าตอบแทนพนักงานราชการ ขณะเดียวกันรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีบุหรี่
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำและมูลค่าการส่งออกที่หดตัวจากผลด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพาราที่ปรับลดลงตามแรงกดดันของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสต็อกยางพาราจีนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันและกุ้งขาว มีแรงกดดันจากผลผลิตเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบที่ร้อยละ 0.90 ตามการลดลงของราคาในหมวดพลังงาน ค่ากระแสไฟฟ้าและเชื้อเพลิงหุงต้ม ขณะที่อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.33 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น
ณ สิ้นเดือนมกราคม ปี 2558 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ และกระแสรายวัน ด้านเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจากการระดมเงินฝากและการโอนเงินเข้าบัญชีของส่วนราชการ ส่วนสินเชื่อคงค้างขยายตัวจากการส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717
E-mail :Jularatk@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย