ฉบับที่ 5/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2559
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมีนาคม 2559 ภาพรวมเศรษฐกิจแผ่วลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากที่การใช้จ่ายภาคเอกชนแม้ขยายตัว แต่การบริโภคในหลายหมวดยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะจากรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงบ้างจากช่วงฤดูกาลก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ภาคการผลิตยังคงหดตัวในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขณะที่ผลผลิตเกษตรลดลงในพืชหลักทั้งอ้อยและข้าวนาปรัง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา สะท้อนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคเกษตรและบริการ ด้านอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงต่อเนื่องเป็นผลจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงตามภาคเศรษฐกิจจริง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ภาครัฐ มีการเร่งเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากการเร่งเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โครงการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวง อาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลมีความคืบหน้าชัดเจน รวมถึงมีการโอนเงินอุดหนุนสำหรับก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
การส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมาและ สปป.ลาว ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น จีนและฮ่องกงยังลดลง สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรม ด้านมูลค่าการนำเข้า ลดลงร้อยละ 11.3 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก
ด้านดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5.8 องค์ประกอบสำคัญมาจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากราคาทรงตัวต่ำและกำลังซื้อนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหลาย ๆ หมวดสินค้ายังหดตัวโดยเฉพาะส่วนที่สัมพันธ์กับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรที่ยังตกต่ำและภาระหนี้ครัวเรือน ซึ่งแสดงให้เห็นจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับลดลง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้ชะลอลงไปจากช่วงก่อน แต่เครื่องชี้สำคัญที่แสดงทิศทางในเกณฑ์ดี ทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญยังมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ยังไม่ส่งกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวมากนัก
ภาคเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่อง รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 20.3 ทั้งด้านผลผลิตและราคา ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 15.3 โดยลดลงมากในผลผลิตพืชหลักสำคัญ ได้แก่ อ้อย ข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบภาวะแห้งแล้งที่รุนแรง อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลังและผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ยังขยายตัวได้ ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 5.8 จากราคาอ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลง เนื่องจากคุณภาพของผลผลิตและความต้องการปรับลดลง ขณะที่ราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กลับมาลดลงร้อยละ 12.6 ส่วนสำคัญมาจากการผลิตน้ำตาลที่หมดฤดูหีบอ้อยแล้ว รวมถึงโรงสีข้าวที่ผลิตลดลงจากผลผลิตข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้ง ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงลดลงทุกประเภทสินค้าทั้งแผงวงจรรวมและเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า เลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และส่วนหนึ่งจากการแข่งขันด้านราคาและไม่ได้สิทธิประโยชน์ทาง GSP อย่างไรก็ดี การผลิตที่ขยายตัวในเดือนนี้ แม้ชะลอลงจากเดือนก่อน ได้แก่ การผลิตเครื่องดื่ม สิ่งทอ เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์
ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากภาวะซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภท ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญก็ยังลดลง ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้างและยอดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยต่อเนื่องเหลือร้อยละ 0.82 ยังเป็นผลจากราคาหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังหดตัว ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 โดยในเดือนนี้การจ้างงานปรับลดลงเล็กน้อยจากแรงงานภาคเกษตรและบริการ สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ชะลอลง นอกจากนี้ ยังไม่เห็นการเลิกจ้างอย่างถาวร โดยผู้ประกอบการมีการใช้มาตรา 75 สอดคล้องกับแนวโน้มการผลิตลดลง โดยยังเตรียมการจ้างงานพนักงาน สำหรับโอกาสข้างหน้าอยู่
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 585,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการชำระหนี้คืนบางส่วนของภาคธุรกิจ แต่โดยรวมสินเชื่อภาคธุรกิจยังเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในธุรกิจภาคค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง โรงแรม ขนส่ง ธุรกิจการเงินและภาคเกษตร ขณะที่เพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 638,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและส่วนราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 91.7 เท่ากับเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย