ฉบับที่ 8/2559
เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 โดยรวมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ อันเป็นผลบวกต่อการจ้างงานในกิจการนอกภาคเกษตร จึงมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนบางส่วนและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังเผชิญปัจจัยฉุดรั้งจากรายได้เกษตรกรและมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่อง จากผลของราคาสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญที่ตกต่ำตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบตามราคาพลังงาน
ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.0 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักทุกประเทศ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อีกทั้งมีสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวรัสเซียหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้การขยายตัวของเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว
การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนสำคัญมาจากการเร่งเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ด้านการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นตามการจับเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มเร่งตัวจากกิจการขายส่งขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และการก่อสร้าง เป็นสำคัญ ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลดลงตามหมวดน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งกำลังซื้อของครัวเรือนบางส่วนได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการก่อสร้างโครงการลงทุนภาครัฐที่ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการค้า ภาคบริการและภาคการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
รายได้เกษตรกรยังอ่อนแอจากผลด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าเกษตรหดตัวจากราคายางพาราที่ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักชะลอตัว รวมถึงราคาปาล์มน้ำมันลดลงจากแรงกดดันของสต็อกน้ำมันปาล์มที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้นทุกชนิดทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันและกุ้ง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในภาพรวมกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง แต่เป็นเพียงผลของปัจจัยชั่วคราวที่มีการส่งออกแท่นและเรือขุดเจาะน้ำมันในเดือนมีนาคม 2559 ส่วนการส่งออกสินค้าสำคัญยังคงหดตัวจากผลด้านราคาและอุปสงค์คู่ค้าชะลอตัว ขณะที่ภาพรวมด้านปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกในภาคอุตสาหกรรมทรงตัวตามการผลิตยางแปรรูปที่ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบและไม้ยางพาราขยายตัวได้ตามปริมาณวัตถุดิบและความต้องการซื้อ อย่างไรก็ตามการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องหดตัวเล็กน้อย
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบที่ร้อยละ 0.81 ตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้มีการปรับลดราคาเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าโดยสารสาธารณะ ขณะที่ราคาหมวดยาสูบเพิ่มขึ้นหลังการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.21 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนโดยแรงงานภาคเกษตรกรรมเคลื่อนย้ายเข้าสู่นอกภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการ
ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2559 เงินฝากคงค้างธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0 ตามเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลให้สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัว ในด้านการผลิต การก่อสร้าง การขายส่งขายปลีก และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ 0.8 ตามสินเชื่อเช่าซื้อรถ ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราชะลอลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717
E-mail :Jularatk@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย