ฉบับที่ 6/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยภาคเศรษฐกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนแม้ขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวเพียงบางภูมิภาคและในสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจัยลบมาจากรายได้เกษตรกรตกต่ำและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง ภาคเศรษฐกิจที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา ภาคเกษตรลดลงทั้งผลผลิตและราคา รวมถึงการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและผลผลิตการเกษตรยังลดลงเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากความต้องการของประเทศคู่ค้าชะลอลง การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นและผลกระทบจากภาวะแล้ง อย่างไรก็ดี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวม ยังอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศหดตัวน้อยลง ด้านอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แรงงานบางส่วนในภาคเกษตรมีการย้ายไปในภาคก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีกและบริการ ด้านเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ขณะที่เงินฝากปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือได้แก่ การใช้จ่ายของภาครัฐ ยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 จากการเร่งเบิกจ่ายมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และโครงการลงทุนตามแผนงานในงบประมาณปกติจากการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวง อาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลมีความคืบหน้าให้เห็นชัดเจนขึ้น รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างให้กับท้องถิ่นยังเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการลงทุนขนาดเล็กและการบริหารจัดการน้ำและถนนมีการเบิกจ่ายชะลอลงภายหลังมีบทบาทสำคัญในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า
ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวดี สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร อัตราเข้าพักของโรงแรมและราคาห้องพักเฉลี่ย ส่วนสำคัญจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในช่วงเทศกาลตรุษจีนทั้งเที่ยวบินตรง เช่าเหมาลำและคาราวานรถยนต์เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปทยอยเข้ามามากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าร่วมประชุมสัมมนาและเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอลงภายหลังผลของปัจจัยชั่วคราวได้หมดลง ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีตามมาตรการลดหย่อนภาษี ประกอบกับมีปัจจัยฉุดรั้งจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็น ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้ายังขยายตัวได้
การส่งออก ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ส่วนสำคัญมาจากส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว รวมถึงความสามารถในการแข่งขันมีข้อจำกัดในบางกลุ่มสินค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวดีทั้งตลาดเมียนมาและ สปป.ลาว ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาว ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออกปรับลดลง
ภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวในระดับต่ำร้อยละ 3.9 จากภาวะซบเซาในภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วยดูดซับอุปทานส่วนเกินได้เพียงบางส่วน แต่ยังไม่กระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่ ๆ เช่นเดียวกับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภท จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศโดยรวมยังอ่อนแอ โดยเครื่องชี้การลงทุนสำคัญที่ลดลง ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และยอดขายวัสดุก่อสร้าง
รายได้เกษตรกร ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับดีขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อนโดยลดลงร้อยละ 11.1 ปัจจัยสำคัญมาจากภาวะแห้งแล้งที่รุนแรง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลงและผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 4.6 โดยเฉพาะพืชสำคัญ ได้แก่ อ้อย ข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลังและผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 6.8 จากราคาอ้อย มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากคุณภาพของผลผลิตและความต้องการในต่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ดี ราคาข้าวเปลือกและราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไข่ไก่เพิ่มขึ้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยังลดลงร้อยละ 6.7 จากการผลิตเพื่อการส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงทุกประเภทสินค้าโดยเฉพาะแผงวงจรรวมและเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า รวมถึงเลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอลง และอีกส่วนหนึ่งจากการแข่งขันด้านราคาและสินค้าบางประเภทไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทาง GSP นอกจากนี้ การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปลดลงจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งทั้งการผลิตน้ำตาล การสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้ อย่างไรก็ดี การผลิตบางประเภทที่ยังขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ ได้แก่ การผลิตเครื่องดื่ม เซรามิกและเฟอร์นิเจอร์
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลงต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 0.77 ส่วนสำคัญมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ยังหดตัว ส่วนราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านอัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากการจ้างงานในภาคเกษตรที่ลดลง โดยแรงงานจำนวนหนึ่งสามารถย้ายไปทำงานในภาคก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่งและภาคบริการ รวมถึงยังไม่เห็นการเลิกจ้างแรงงานในภาคการผลิตอย่างถาวร โดยผู้ประกอบการบางส่วนมีการใช้มาตรา 75 สอดคล้องกับแนวโน้มการผลิตที่ลดลง
ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 585,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากการชำระหนี้คืนบางส่วนของภาคธุรกิจ แต่โดยรวมสินเชื่อภาคธุรกิจยังเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในธุรกิจภาคค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง โรงแรม ขนส่ง ธุรกิจการเงินและภาคเกษตร ขณะที่เพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 638,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและส่วนราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 91.7 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย