แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 31, 2016 16:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 08/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2559 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแผ่วลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ยังทรงตัว โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็นใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดรถยนต์หดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรหดตัวน้อยลง ทั้งด้านผลผลิตและราคา ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐแม้โดยรวมจะชะลอลง แต่แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง รวมทั้งรายจ่ายงบลงทุนยังเพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาบวกเป็นเดือนแรกหลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 15 เดือน ตามราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนมีนาคม 2559 ชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็นปรับดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ยังหดตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยถ่วงจากรายได้ภาคเกษตรหดตัวน้อยลงทั้งด้านราคาและผลผลิต ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ และปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 34.9 ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ภัยแล้ง ด้านภาคบริกา รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน จากหมวดภัตตาคารและร้านอาหาร ขณะที่หมวดโรงแรมและรีสอร์ทเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 34.4 ซึ่งต่ำกว่าเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แม้ในภาพรวมจะชะลอลง แต่ยังเป็นแรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนนี้ โดยรายจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่อง แม้จะแผ่วลงจากที่เร่งเบิกจ่ายไปค่อนข้างมากในเดือนก่อน โดยในเดือนนี้มีการเบิกจ่าย 2,209.9 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างในงบปกติของกรมทางหลวงที่ขยายตัว

สำหรับการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่องโดยเฉพาะกรมชลประทาน และกรมทางหลวง ซึ่งเดือนนี้เบิกจ่ายจำนวน 553.6 ล้านบาท

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทุกประเภทลดลง เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังหดตัว ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการปรับลดลง โดยโรงงานขนาดใหญ่ที่สนใจเข้ามาลงทุนในเดือนนี้ ได้แก่ โรงงานซ่อมแซมรถยนต์และศูนย์บริการ ที่จังหวัดเลย เงินลงทุน 213.7 ล้านบาท สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หดตัวในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม ยกเว้นหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวจากกิจการผลิต Base Plate for HDD ที่จังหวัดนครราชสีมา เงินลงทุน 344 ล้านบาท

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวขยายตัวจากเดือนก่อน ตามความต้องการของตลาดในประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิตมีน้อยกว่าปีการผลิตก่อนหน้า ส่วนราคามันสำปะหลังปรับดีขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ประกอบกับผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับยางพาราปรับดีขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและอ้อยโรงงานยังคงหดตัวตามทิศทางราคาในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ราคาอ้อยโรงงานมีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำตาลโลก สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญหดตัวน้อยลง ตามผลผลิตยางพาราที่ขยายตัวจากพื้นที่เปิดกรีดใหม่ ขณะที่ผลผลิตอ้อยโรงงาน ข้าว และมันสำปะหลัง ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.6 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่โน้มลงจากปัญหาภัยแล้ง ด้านการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวมากขึ้น จากสต็อกสินค้าที่อยู่ในระดับสูง สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการจากต่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 0.32 โดยกลับมาบวกเป็นเดือนแรกหลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 15 เดือน ตามราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.35 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 แต่ชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ในทุกประเภทเงินฝาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กอปรกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ