สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนพฤษภาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 30, 2016 16:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 11/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนพฤษภาคม ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม 2559 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยรายได้เกษตรกร มีปัจจัยฉุดรั้งจากผลกระทบภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตปาล์มและยางหดตัว ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐแผ่วลงเนื่องจากเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว และมูลค่าการส่งออกซบเซาตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตแม้จะแผ่วลงบ้าง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย ซึ่งสนับสนุนให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรและการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

รายได้เกษตรกรลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงด้านผลผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งมีปัจจัยฉุดรั้งจากผลกระทบภัยแล้งทำให้ผลผลิตปาล์มและยางหดตัว ขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวจากโรคระบาดในกุ้ง ส่วนราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามราคายางและปาล์มน้ำมัน จากการแข่งขันรับซื้อผลผลิตของผู้ประกอบการในช่วงผลผลิตตึงตัว สำหรับราคากุ้งขาวสูงขึ้นเพราะผลผลิตประเทศคู่แข่งลดลงจากโรคระบาดและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้ากลับเข้ามาหลังจากที่ชะลอซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคาวัตถุดิบในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้การผลิตไม้ยางแปรรูปและถุงมือยางขยายตัวตามความต้องการคู่ค้าหลัก ส่วนการผลิตยางพาราแปรรูปทรงตัว อย่างไรก็ตาม การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งลดลงตามข้อจำกัดด้านวัตถุดิบปลาและหมึกแม้ว่าปริมาณวัตถุดิบกุ้งฟื้นตัวก็ตาม ด้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบลดลง ตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตแม้จะแผ่วลงบ้าง ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจมาเลเซียที่ชะลอตัว ประกอบกับในเดือนเดียวกันปีก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมากหลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเข้าพักและจำนวนนักท่องเที่ยวยังขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐในส่วนของรายจ่ายลงทุนขยายตัวในอัตราชะลอลงหลังจากได้เร่งเบิกจ่ายไปช่วงก่อนหน้า ขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนตามรายจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษาต่างๆ และการเบิกจ่ายในหมวดดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบกับมีการเบิกจ่ายเพื่อใช้จ่ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน สำหรับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีทุกประเภท

การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน แม้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังลดลง แต่ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้บ้างในบางสาขามีส่วนสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือนบางส่วน เมื่อประกอบกับการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ด้านการใช้จ่ายสินค้าคงทนซึ่งสะท้อนจากการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ชะลอลง

มูลค่าการส่งออกหดตัวหลังจากที่ผลของปัจจัยชั่วคราวได้หมดไป ตามราคาสินค้าส่งออกที่ต่ำลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะยางพาราแปรรูป ประกอบกับมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบปลาและหมึกทำให้การส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็งลดลง ขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในสินค้าทุน ประกอบกับการหดตัวของทุกองค์ประกอบในเครื่องชี้การลงทุนจึงยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.28 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.55 ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย

ณ สิ้นเดือนเมษายน ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการระดมเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเพื่อบริหารต้นทุนทางการเงิน แทนการระดมเงินผ่านบัญชีเงินฝากประจำที่มีต้นทุนสูงกว่า สำหรับสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังขยายตัวจากการใช้สินเชื่อตามของมาตรการภาครัฐ อาทิ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อบ้านประชารัฐ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ