ฉบับที่ 8/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2559
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2559 ปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกไปเมียนมายังขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น แต่เครื่องชี้ที่แสดงการบริโภคในชีวิตประจำวันยังลดลง สะท้อนรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตเกษตรและการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานมีการเลิกจ้าง ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและมีการใช้มาตรา 75 มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการมีแผนที่จะใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานในช่วงต่อไป อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินให้สินเชื่อชะลอลงต่อเนื่อง
ภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.9 จากมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โครงการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและอาคารของโรงพยาบาล มีความคืบหน้าชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนให้กับส่วนราชการและการเบิกจ่ายหมวดดำเนินงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวได้ดี อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางกลับเข้ามาภายหลังชะลอลงในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงมากขึ้น ทำให้ดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวขยายตัวทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรมและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร
ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5.3 ทั้งนี้ การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ปรับเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำและสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ สนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันปรับลดลงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของภาคเกษตรและภาคการผลิตยังอ่อนแอ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ
การส่งออก ในเดือนนี้กลับมาลดลงร้อยละ 6.6 จากการส่งออกหลายหมวดในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดจีนและสิงคโปร์ที่หดตัวมากขึ้น จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอลง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไป สปป.ลาว ลดลง จากฐานมูลค่าส่งออกที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกไปเมียนมายังขยายตัวได้ แม้ชะลอลงจากเดือนก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 21.8 โดยผลผลิตสินค้าเกษตร ยังลดลงร้อยละ 20.0 จากผลกระทบภาวะแห้งแล้ง ส่งผลให้พืชหลักลดลงทั้งข้าวนาปรัง ลิ้นจี่และมันสำปะหลัง แต่แนวโน้มผลกระทบของภาวะแล้งจะทยอยหมดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ดี ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ขยายตัวจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนราคาสินค้าเกษตร ปรับดีขึ้นบ้าง โดยลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนสำคัญมาจากราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสับปะรดที่ราคาลดลง เนื่องจากคุณภาพของผลผลิตและความต้องการลดลง อย่างไรก็ดี ราคาข้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนราคาลิ้นจี่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จากผลผลิตที่ลดลงมาก รวมถึงราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 13.1 จากการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การแข่งขันด้านราคา และได้รับผลกระทบเนื่องจากคู่ค้าในจีนเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งในประเทศอื่น นอกจากนี้ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ลดลงทุกสินค้า อย่างไรก็ดี การผลิตเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปปรับดีขึ้นจากวัตถุดิบเริ่มทยอยเข้าสู่สายการผลิตโดยเฉพาะผักสดแช่แข็งและอบแห้ง นอกจากนี้ การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังขยายตัวต่อเนื่อง
การลงทุนภาคเอกชน ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 11.0 จากภาคการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ชัดเจน แม้มีปัจจัยสนับสนุนจากนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่มากพอที่ทำให้อุปทานส่วนเกินลดลง เช่นเดียวกับกำลังการผลิตของภาคการผลิตที่ยังเหลืออยู่ ส่งผลให้ภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลงทั้งยอดขายวัสดุก่อสร้างและยอดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มยังไม่ชัดเจน
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กลับมาเป็นบวกเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตน้อยลงจากภาวะแห้งแล้ง ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทรงตัวในระดับต่ำ ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำและปรับลดลงจากเดือนก่อนเหลือร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจ้างงานมีการเลิกจ้าง ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและมีการใช้มาตรา 75 มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการมีแผนที่จะเพิ่มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานในช่วงต่อไป
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินฝาก 644,146 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน จากเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและส่วนราชการ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 581,527 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยยังมีการชำระหนี้คืนบางส่วนของภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นการบริหารวงเงินสินเชื่อให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรม อย่างไรก็ดี ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากแรงส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่สิ้นสุดในเดือนนี้ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 90.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 0 5393 1164
e-mail: Kusolc@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย