แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 30, 2016 15:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 09/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2559 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวทั้งจากงบลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังมีต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเล็กน้อย ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนปรับดีขึ้น ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรหดตัวน้อยลงจากผลทั้งด้านผลผลิตและราคา อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้ปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนเมษายน 2559 ขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่สินเชื่อคงค้างชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การใช้จ่ายภาครัฐ เป็นแรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนนี้ โดยการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นสำคัญ ส่วนการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ยังมีต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้มีการเบิกจ่าย 2,001.5 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน นอกจากนี้ ยังมีการโอนเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายจ่ายโดยรวมในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 17.2

สำหรับการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเดือนนี้มีการเบิกจ่ายจำนวน 603.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 แต่ยังทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเล็กน้อย ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทน โดยเฉพาะหมวดรถยนต์ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากภาคเกษตรหดตัวน้อยลง จากผลทั้งด้านผลผลิตและราคา อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 38.9 จากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 34.9 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากที่หดตัวในเดือนก่อน ตามรายได้ในหมวดที่พัก ทั้งในโรงแรมและรีสอร์ท รวมทั้งหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากเดือนนี้ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 32.9 ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 และหดตัวเท่ากับเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังหดตัว ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวตามการลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนยังให้ความสนใจที่จะลงทุน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากการลงทุนของทั้งโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกที่จังหวัดร้อยเอ็ด เงินลงทุน 1,224.8 ล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 9 เท่า จากการลงทุนในหมวดเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร และหมวดอุตสาหกรรมเบา ตามลำดับ โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเดือนนี้ ได้แก่ กิจการผลิตยางเครฟ 7 โครงการ รวมเงินลงทุน 5,805 ล้านบาท กิจการผลิตไก่เนื้อและไข่ไก่ เงินลงทุน 792 ล้านบาท กิจการผลิตไก่ชำแหละ 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 1,302 ล้านบาทเป็นต้น

สำหรับการผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวปรับสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตน้อยกว่าฤดูการผลิตก่อน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ รวมทั้งราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการจำกัดปริมาณการส่งออกยางพาราตามความร่วมมือไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับตัวดีขึ้นบ้าง ขณะที่ราคามันสำปะหลังหดตัวมากขึ้น ตามคุณภาพที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญหดตัวน้อยลง จากผลผลิตยางพาราที่ขยายตัวตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.8 และหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวที่ลดลง เนื่องจากปริมาณอ้อยปีการผลิต 2558/59 ที่เข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีการผลิต 2557/58 ประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงจากการเร่งนำเข้าไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ลดลงตามความต้องการจากต่างประเทศ ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงงานมีการส่งเสริมการขายกับตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.77 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด ได้แก่ ผักสด เนื้อสัตว์และผลไม้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 1.4 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลง ขณะที่ผู้มีงานทำในภาคนอกเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขา

ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนเมษายน 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และขยายตัวจากเดือนก่อน จากเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็มีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ