ฉบับที่ 12/2559
เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนมิถุนายน ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมิถุนายน ปี 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน แม้การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ เนื่องจากการท่องเที่ยวลดลงจากปัจจัยชั่วคราวที่เทศกาลถือศีลอดเริ่มเร็วขึ้นในช่วงต้นเดือน ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและการชะลอคำสั่งซื้อของคู่ค้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว แม้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการยังขยายตัว แต่กำลังซื้อถูกถ่วงด้วยรายได้เกษตรที่ลดลงจากด้านราคา รวมทั้งรายได้จากการส่งออกที่ยังหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงานในภาคเกษตร และอัตราเงินเฟ้อเป็นบวกตามราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายลงทุนด้านก่อสร้างและปรับปรุงระบบถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้นมากจากเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำยังขยายตัวสูง จากการซื้อบริการและสินค้าสูงขึ้นของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน ด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีชะลอลง ตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ลดลงในหมวดสุรา เนื่องจากโรงงานมีสต็อกค้างจำนวนมาก และผลจากการเปลี่ยนแปลงการนำส่งภาษีของโรงงานผลิตเครื่องดื่ม จากเดิมต้องเสียภาษีก่อนนำสินค้าออกจากโรงงาน มาเป็นขอชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงงาน ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเดือนนี้ลดลง
การท่องเที่ยวลดลง จากปัจจัยชั่วคราวที่เทศกาลถือศีลอดเริ่มเร็วขึ้นเป็นต้นเดือนจากช่วงกลางเดือนในปีก่อน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาลดลง อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวจีนและยุโรปยังขยายตัวดี และเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของนักเที่ยวชาวรัสเซีย เครื่องชี้ที่สำคัญทั้งจำนวนเที่ยวบิน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร และอัตราเข้าพักยังขยายตัว
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการยังขยายตัวสูง รวมทั้งยอดขายสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และการทำตลาดมากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นหลังจากภัยแล้งที่คลี่คลายส่งผลให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายจากนอกภาคเกษตรมาในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นในรอบ 2 ปี เป็นปัจจัยหนุนการบริโภค
รายได้เกษตรกรลดลงจากเดือนก่อน ตามราคายางที่ได้รับปัจจัยลบจากความกังวลในเศรษฐกิจโลก แต่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ต่ำมากในช่วงต้นปี โดยเฉพาะราคากุ้งขาวเร่งตัวจากความต้องการในต่างประเทศ และราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนยังอยู่ในระดับต่ำ จากผลกระทบภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันลดลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อย จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่หดตัวมากตามปริมาณวัตถุดิบผลปาล์มที่เข้าโรงงานลดลง และการผลิตอาหารทะเลกระป๋องที่คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูราคาวัตถุดิบ ขณะที่การผลิตไม้ยางพารา ยางพาราแปรรูป และถุงมือยาง ขยายตัวดีตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวในผลิตภัณฑ์กุ้ง
การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนยังคงหดตัวตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมทั้งมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน
มูลค่าการส่งออกและนำเข้ายังคงหดตัว โดยการส่งออกลดลงตามมูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง ขณะที่มูลการส่งออกไม้ยางพาราและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้น ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มจากปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้าง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.43 ตามราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมทั้งผักและผลไม้ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.47 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคเกษตร เนื่องจากการผลิตภาคเกษตร โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งมีสัญญาณฟื้นตัวหลังโรคตายด่วนคลี่คลาย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น
ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการโยกไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อาทิ กองทุนรวม ส่วนเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ขณะที่เงินให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717
E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย