แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2016 15:32 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 11/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่นที่มีอย่างต่อเนื่อง ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันทรงตัว ส่วนการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ปรับลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเกษตรยังหดตัวจากผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว สำหรับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญในไตรมาสนี้ โดยการใช้จ่ายรวมจำนวน 79,191.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายงบลงทุนที่ขยายตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน เป็นสำคัญ ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่องเกือบ 15,000 ล้านบาท ทั้งโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 200,000 บาท) ที่เริ่มเบิกจ่ายในเดือนมิถุนายน 2559 จำนวน 6,630.5 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ซึ่งมีการเบิกจ่ายในไตรมาสนี้ 6,030.7 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินนอกงบประมาณในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและถนน 2,197.4 ล้านบาท

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 และทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันยังทรงตัว ส่วนการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปีที่แล้ว ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการเร่งซื้อในช่วงปลายปี 2558 ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แต่เห็นสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดโปรโมชั่นของผู้ผลิตรถยนต์เพื่อเร่งยอดขายและการเปิดตัวรถยนต์ใหม่หลายรุ่น ขณะที่ภาคการค้าปรับดีขึ้น โดยดัชนีการค้าขยายตัวทั้งการค้าปลีกและการค้าส่งในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน แต่การค้าปลีกรถยนต์แผ่วลง อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเกษตรยังหดตัว ผนวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย สำหรับภาคบริการรายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร และโรงแรม/รีสอร์ท สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 34.0 ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสก่อน ด้านการลงทุนภาคเอกชน หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 และหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทุกประเภท และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังหดตัว ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการยังหดตัว อย่างไรก็ดี เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 36,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 3 เท่าตัว ในหมวดบริการและสาธารณูปโภค หมวดเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร เป็นสำคัญ ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับส่งเสริม ในไตรมาสนี้ ได้แก่ กิจการพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ (9,100 ล้านบาท) กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไอน้ำ (11,490 ล้านบาท) กิจการผลิตยางเครฟ (5,805 ล้านบาท) กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (1,780 ล้านบาท) และกิจการผลิตไก่ชำแหละ (1,302 ล้านบาท)เป็นต้น

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.0 และหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน จากผลผลิตพืชที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ขณะที่ผลผลิตยางพารายังเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่เปิดกรีดใหม่ตามการขยายพื้นที่ปลูกในช่วงก่อนหน้า สำหรับราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับดีขึ้น ตามราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ขยายตัว และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ปรับดีขึ้นบ้าง เนื่องจากผลผลิตที่ลดลง ขณะที่ความต้องการยังมีต่อเนื่อง ส่วนราคายางพาราปรับดีขึ้น ตามราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการจำกัดปริมาณการส่งออกยางพาราในตลาดโลก และราคาอ้อยโรงงานปรับดีขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลังหดตัวมากขึ้น ตามคุณภาพที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.8 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยหดตัวในเกือบทุกหมวด ทั้งการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวที่ลดลง เนื่องจากปริมาณอ้อยปีการผลิต 2558/59 ที่เข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อน จากปัญหาภัยแล้ง ส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสต็อกสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการจากต่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.67 โดยกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 ตามราคาอาหารสด (ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่) อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.41 สูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของส่วนราชการเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 แต่ชะลอต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการอุปโภคอื่น ๆ ส่วนสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ยังหดตัว สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจชะลอลงในหลายธุรกิจ เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อของภาคธุรกิจจึงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจการบริการ (โรงพยาบาล) ยังขยายตัว

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ