ฉบับที่ 15/2559
เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม ปี 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ขยายตัวตามภาวะการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มเส้นทางบินระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจีน ประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ยังทำได้ดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคเกษตรกลับมาดีขึ้นทั้งผลผลิตและราคา อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสด
การท่องเที่ยวขยายตัวสูงทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และตอนล่าง โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนเร่งตัวขึ้น เนื่องจากหลายสายการบินมีการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจีน รวมทั้งมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากเวียดนามมาภูเก็ตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเข้าพักโรงแรมภาคใต้และจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศขยายตัว
การใช้จ่ายภาครัฐด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน แม้เม็ดเงินจะชะลอจากเดือนก่อนมากหลังจากโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าไปมาก โดยเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างซ่อมแซมและปรับปรุงถนนในทุกจังหวัดของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และแหล่งน้ำของกรมชลประทาน สะท้อนให้เห็นจากการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งงบรายจ่ายอื่นที่ลงในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่การเบิกรายจ่ายประจำลดลงทุกหมวดรายจ่าย โดยเฉพาะหมวดเงินเดือนจากการเปลี่ยนไปใช้ระบบจ่ายตรงของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
รายได้เกษตรกรขยายตัวสูง จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคายางปรับสูงขึ้น เป็นผลจากอุปทานตึงตัว ถึงแม้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความต้องการวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งมอบตามคำสั่งซื้อที่ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันกันรับซื้อวัตถุดิบ เนื่องจากผลผลิตลดลงจากภัยแล้งช่วงก่อนหน้า ส่วนราคากุ้งขาวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกที่ผลผลิตของประเทศคู่แข่งลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้ง โรคระบาด และมีสารเคมีตกค้าง ทำให้ตลาดหันมาซื้อกุ้งขาวจากไทยมากขึ้น
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว แม้ว่ายอดขายรถจะลดลงก็ตาม เนื่องจากยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำยังสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การอุปโภคบริโภคชะลอลงตามการใช้จ่ายหมวดยานยนต์ที่หดตัว หลังจากมียอดขายเร่งตัวในช่วงก่อนหน้าจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และการทำตลาดมากขึ้น
มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเร่งตัวขึ้น จากปัจจัยชั่วคราวในการส่งออกและนำเข้าหมวดอากาศยาน เรือ แท่นและรถไฟ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปตลาดสำคัญทั้งจีนและมาเลเซีย ขณะเดียวกันหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพิ่มขึ้นนอกจากความต้องการไม้ยางพาราสูงในตลาดจีนแล้ว ตลาดตะวันออกกลางยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งการผลิตยางพาราแปรรูปและไม้ยางพารา ส่วนการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นตามการผลิตกุ้งขาว อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนก่อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาวัตถุดิบปลาและหมึก และผู้ซื้อบางส่วนชะลอคำสั่งซื้อจากปัจจัยลบด้านราคาที่สูงขึ้นของอาหารทะเลกระป๋องและไม้ยางพาราแปรรูป
การลงทุนภาคเอกชนเครื่องชี้สำคัญหดตัวต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์จากภาวะซบเซาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนและการจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังหดตัวตามภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.22 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสดที่ชะลอตัว ทั้งเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมทั้งผักและผลไม้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.18 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคก่อสร้าง การค้าและบริการ
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากของผู้ถือพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งปี 2553 ที่ครบกำหนดไถ่ถอนและเงินฝากที่ภาครัฐโอนมาฝากที่ธนาคารของรัฐสำหรับโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน ส่วนภาพรวม สินเชื่อคงค้างชะลอลงจากการระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717
E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย