ฉบับที่ 12/2559
เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2559
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกรกฎาคม 2559 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังทรงตัว ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงหลังจากที่มีการเบิกจ่ายไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า ผนวกกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนมิถุนายน 2559 ขยายตัว ขณะที่สินเชื่อคงค้างชะลอลงเล็กน้อย
การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ปรับลดลง หลังจากที่มีการเร่งซื้อไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังทรงตัว โดยดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หมุนเวียนเร็ว (Nielsen's Fast Moving Consumer Goods) ลดลงเล็กน้อยทั้งหมวดสินค้าจำเป็นและไม่จำเป็น โดยเฉพาะหมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีค้าปลีกในหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ในส่วนของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชะลอลงต่อเนื่องทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 31.7 แม้จะทรงตัวจากเดือนก่อนแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และภาระหนี้สะสมจากภัยแล้งที่ผ่านมา ผนวกกับรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง ตามรายได้ในหมวดการบริการที่พักในโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ การบริการอาหารในภัตตาคารและร้านอาหารที่ลดลง ส่วนที่พักในลานค่ายพักแรม และที่พักแรมขนาดเล็กยังขยายตัว สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 42.3 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 จากที่ขยายตัวค่อนข้างมากในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่แผ่วลงหลังจากเร่งเบิกจ่ายไปมากแล้ว โดยโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 200,000 บาท)ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนนี้ มีการเบิกจ่าย 382.5 ล้านบาท ส่วนมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล(ตำบลละ 5 ล้านบาท) ยังมีการเบิกจ่ายในเดือนนี้ 463.8 ล้านบาท นอกจากนี้ การเบิกจ่ายเงินในงบลงทุนยังลดลงจากหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน และกรมทางหลวง เป็นสำคัญ
สำหรับการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนในเดือนนี้มีการเบิกจ่าย 285.1 ล้านบาท ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เบิกจ่าย 1,040.1 ล้านบาท
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้าง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพื่อการพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นจากการขออนุญาตก่อสร้างของโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา แต่การก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยยังหดตัว ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอลงเล็กน้อยในทิศทางเดียวกับการลงทุนของภาครัฐ ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังหดตัว ด้านเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการลดลงในทุกขนาดกิจการ สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลงในหมวดเคมีภัณฑ์กระดาษและพลาสติก แต่หมวดเกษตรและผลผลิตการเกษตรยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งกิจการที่สำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ที่จังหวัดอุบลราชธานี (772 ล้านบาท)
การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.9 และลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากผลของทั้งราคาและผลผลิตที่ลดลง โดยราคามันสำปะหลังหดตัวมากขึ้นตามคุณภาพแป้งและคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลง และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังหดตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการใช้สินค้าเกษตรอื่นทดแทน รวมทั้งราคายางพาราหดตัว จากความต้องการของจีนที่ลดลง ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ หดตัวน้อยลง เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลผลิต ที่ออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับผลผลิตพืชสำคัญหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.9 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลง ตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่ชะลอลง เนื่องจากสต็อกยังคงเหลืออยู่ นอกจากนี้ การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวยังหดตัว ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงหลังจากการเร่งนำเข้าเพื่อสต็อกไว้ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำตาลมีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวจากการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า แต่ความต้องการจากต่างประเทศยังลดลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด (ได้แก่ ผักสด ปลา สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์นม) และอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.34 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9
ภาคการเงินเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 และขยายตัวจากเดือนพฤษภาคม ตามเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวันของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร. 04333 3000 ต่อ 3415
E-mail: PornnipT@bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย